ฝ่าสองด่านหิน 'ประยุทธ์ 'อยู่ยาวปี 66

ฝ่าสองด่านหิน 'ประยุทธ์ 'อยู่ยาวปี 66

หาก 'พล.อ.ประยุทธ์' รอดพ้นคดี 'บ้านพักหลวง' และสามารถลดทอนพลัง'ม็อบราษฎร' โอกาสอยู่ในตำแหน่ง 'นายกรัฐมนตรี' ถึงปี 2566 ก็เป็นไปได้สูง


จนถึงขณะนี้คงไม่มีใครเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะอยู่บริหารราชการแผ่นดินได้ถึงปี 2566 ครบ 4 ปี ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ หลังเข้ารับตำแหน่ง หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 

หลัง'ศาลรัฐธรรมนูญ' เตรียมวินิจฉัยคำร้อง 'พรรคเพื่อไทย' กรณีการอาศัย 'บ้านพักหลวง' ภายใน กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1ทม.รอ.)ของ 'พล.อ.ประยุทธ์'ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค 3 คือ ขัดกันของผลประโยชน์ ถือเป็นการรับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ 

หากกางระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคารบ้านพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก พ.ศ. 2553 เขียนไว้ชัดว่า ผู้ย้ายออกนอกกองทัพบก หรือออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด  ต้องย้ายออกจากอาคารบ้านพักอาศัยภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งย้ายออกจากกองทัพบก

แต่ในระเบียบดังกล่าว ได้ให้สิทธิ์ กรมสวัสดิการทหารบก และผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารนั้นๆ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลอาคารที่พักอาศัยของทางราชการ มีอำนาจออกระเบียบปลีกย่อยเพิ่มได้อีกตามความจำเป็น แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้

และในสมัย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. เคยปรากฎข้อมูลว่า นายทหารที่เกษียณราชการแล้ว เช่น นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และองคมนตรี สามารถอาศัย 'บ้านพักหลวง'ได้ เพราะทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ

คงต้องไปลุ้น คำชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ จะทำให้  'พล.อ.ประยุทธ์'หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่

ส่วนอีกปัจจัยที่ทำให้อายุการเป็นนายกรัฐมนตรี ของ 'พล.อ.ประยุทธ์' สั้นลง คือ 'กลุ่มราษฎร' หลังประกาศชัดไม่ขอร่วมสังฆกรรมทุกรูปแบบกับ 'คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์' และยืนยันใน 3 ข้อเรียกร้อง 1. พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี 2.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 3. ปฏิรูปสถาบันให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

เป็นการตอกย้ำว่า 'ศึกนี้'ยังอีกยาวไกล  แม้หลายฝ่ายจะมองว่า 'กลุ่มราษฎร' กำลังฝ่อและหมดมุข คงไม่ยกระดับไปมากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาก็ 'ทะลุเพดาน' หลายประเด็น แต่ก็ยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง 

แต่'การยกระดับ' เมื่อมาถึงจุดที่ยังไม่ก่อให้เกิดผลอะไร 'กลุ่มราษฎร' อาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ หันไปใช้วิธีอื่นซึ่งอาจจะสร้างปัญหาตามมาในอนาคต ซึ่ง 'พล.อ.ประยุทธ์' อาจต้องประเมินสถานการณ์ 'ช็อตต่อช็อต' 

เพราะหากพิจารณามวลชน 'กลุ่มราษฎร' ประกอบด้วย 1.กลุ่มหัวรุนแรง ปราศรัยเข้มข้น หมิ่นเหม่สถาบัน 2. กลุ่มหัวกลางๆ ที่เรียกร้องปฎิรูป อยากเห็นเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และ 3.กลุ่มสมทบ มาจากพรรคการเมือง หรือคนเสียผลประโยชน์ และได้รับความเดือดร้อน

ทั้งนี้หาก 'กลุ่มราษฎร' ไม่เปลี่ยนทิศไปหาความรุนแรง การเรียกร้องหรือสร้างแรงกดดัน คงไม่ส่งผลต่อ'พล.อ.ประยุทธ์' มากนัก ในขณะที่รัฐบาล กำลังระดมเครื่องมือของภาครัฐเข้าไปลดทอน ผลกระทบที่ลามเข้าไปในสถาบันศึกษา ทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ให้บานปลายออกไป เพื่อผลักผู้ชุมนุมให้อยู่ในกรอบ

ควบคู่กับการเดินเกมในสภา เพื่อหาคำตอบให้กับสังคมผ่าน 'คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์' ที่ 'พล.อ.ประยุทธ์' จำเป็นต้องเข้ารวมเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะหากทำได้ เป็นการแสดงศักยภาพการทำงานด้านการเมือง และเป็นโอกาสสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนมากขึ้น

ทั้งนี้เชื่อกันว่า หาก 'พล.อ.ประยุทธ์'สามารถลดทอนพลัง 'ม็อบราษฎร' ให้อยู่ในกรอบ และรอดพ้นจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปม 'บ้านพักหลวง' ไปได้ โอกาสอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงปี 2566 ก็เป็นไปได้สูง