ถึงเวลาเชิญไต้หวันประชุมอนามัยโลก

ถึงเวลาเชิญไต้หวันประชุมอนามัยโลก

ถึงเวลาเชิญไต้หวันประชุมอนามัยโลก โดยไต้หวันต่อสู้โควิด-19 ได้สำเร็จเยี่ยมยอด นับตั้งแต่เริ่มระบาดมีผู้เสียชีวิตเพียง 7 คน ติดเชื้อไม่ถึง 600 คน

องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กำลังเจอคำร้องขอรอบใหม่ อนุญาตให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุมนานาชาติรายการสำคัญ ด้วยเกรงว่าหากกีดกันไต้หวันออกไปอาจทำลายความพยายามควบคุมการระบาดของโควิด-19

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ในช่วงที่หลายพื้นที่ของโลกกำลังฟื้นตัวจากการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 วันนี้ (9 พ.ย.) ดับเบิลยูเอชโอถึงกำหนดประชุมสมัชชาสุขภาพโลก (ดับเบิลยูเอชเอ) การประชุมสำคัญประจำปีที่ต้องประชุมแบบย่นย่อเมื่อเดือน พ.ค.ขณะที่วงประชุมน่าจะเน้นหนักเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือการระบาดของโควิด-19 แต่ตัวแสดงระหว่างประเทศรายหนึ่งจะไม่ได้ร่วมวงด้วย

ไต้หวันถูกกีดกันไม่ให้เป็นสมาชิกดับเบิลยูเอชโอและองค์การระหว่างประเทศอีกจำนวนหนึ่งเพราะแรงกดดันจากจีน ที่มองว่าเกาะไต้หวันที่มีพลเมือง 23 ล้านคนและปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นดินแดนของตน แต่นักวิจารณ์ยืนกรานว่าการทำแบบนี้ไม่สมเหตุสมผลโดยชี้ว่าไต้หวันต่อสู้โควิด-19 ได้สำเร็จเยี่ยมยอด นับตั้งแต่เริ่มระบาดมีผู้เสียชีวิตเพียง 7 คน ติดเชื้อไม่ถึง 600 คน สมาคมแพทย์โลก (ดับเบิลยูเอ็มเอ) สมาพันธ์สมาคมแพทย์แห่งชาติที่เป็นตัวแทนแพทย์กว่า 10 ล้านคนจึงเรียกร้องเมื่อวันพฤหัสบดี (5 พ.ย.) ให้ไต้หวันสามารถเข้าร่วมประชุมได้

“การระบาดของโควิด-19 พิสูจน์แล้วว่า ความร่วมมือระหว่างระบบสาธารณสุขทั้งหมดทั่วโลกเป็นเรื่องจำเป็น เราเชื่อว่าเป็นทั้งการดูถูกและไม่สร้างสรรค์ ถ้ายังกีดกันตัวแทนด้านสาธารณสุขจากไต้หวันไม่ให้เข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกต่อไป” แฟรงค์ มอนต์โกเมอร์รี ประธานดับเบิลยูเอ็มเอกล่าวในจดหมายเปิดผนึกถึงทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผอ.ดับเบิลยูเอชโอ

สหรัฐและหลายประเทศเรียกร้องกับดับเบิลยูเอชโอซึ่งเป็นองค์การของสหประชาชาติมานานแล้ว ให้อย่างน้อยๆ ก็คืนสถานะผู้สังเกตการณ์ที่ไต้หวันเคยได้จนกระทั่งถูกยกเลิกในปี 2559 ยิ่งโควิดระบาดเสียงเรียกร้องยิ่งหนาหูขึ้น

ไต้หวันและพันธมิตรให้เหตุผลว่า หากไต้หวันได้เข้าร่วมหารือด้วยประชาคมโลกมีแต่จะได้ประโยชน์มหาศาล พวกเขายังเตือนด้วยว่า การปล่อยให้ไต้หวันถูกโดดเดี่ยว ไม่ได้รับข่าวสารโดยตรงอาจบั่นทอนความพยายามหยุดโรคระบาด

หวัง เหลียงหยู เอกอัครราชทูตไต้หวันในเจนีวา กล่าวกับเอเอฟพีเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า โควิดระบาดยิ่งทำให้ไต้หวันถูกกีดกันมากขึ้น

ด้าน ผอ.ดับเบิลยูเอชโอกล่าวว่า การเข้าร่วมของไต้หวันจะตัดสินโดยรัฐสมาชิกด้วยความยินยอมพร้อมใจของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ซึ่งคำนี้หมายถึงรัฐบาลปักกิ่ง แต่หวังยืนกรานว่า ลำพังดับเบิลยูเอชโอก็มีอำนาจเชิญไต้หวันมาเป็นผู้สังเกตการณ์ได้

ไต้หวัน หรือชื่อทางการว่า “สาธารณรัฐจีน” เป็นสมาชิกก่อตั้งดับเบิลยูเอชโอตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรในปี 2491 แต่ถูกขับออกไปในปี 2515 หนึ่งปีหลังจีนได้ที่นั่งในสหประชาชาติ

ระหว่างปี 2552-2559 จีนอนุญาตให้ไต้หวันร่วมประชุมดับเบิลยูเอชเอในฐานะผู้สังเกตการณ์ ใช้ชื่อว่า “จีนไทเป” แต่เมื่อประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินได้รับเลือกตั้งเข้ามา เธอมองว่าไต้หวันเป็นชาติเอกราชโดยพฤตินัย ไม่ยอมรับนโยบายจีนเดียวของปักกิ่ง ไต้หวันจึงสูญเสียสถานะผู้สังเกตการณ์