New Space Economy เศรษฐกิจแห่งอนาคต

New Space Economy เศรษฐกิจแห่งอนาคต

ทำความรู้จัก "เศรษฐกิจอวกาศ" เศรษฐกิจแห่งอนาคตที่ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป เช่น บริษัท SpaceX เข้ามาดิสรัปบริษัทโทรคมนาคมทั้งโลก ด้วยการปล่อยดาวเทียมไปโคจรรอบโลก และหวังบริการอินเทอร์เน็ตเร็วและราคาถูกที่สุดในโลก แล้วไทยเริ่มปรับตัวหรือยัง?

บริษัท SpaceX บริษัทด้านอวกาศที่นำโดย อีลอน มัสก์ ได้ปล่อยดาวเทียม Starlink ไปยังอวกาศเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยปีนี้ได้เริ่มเปิดให้บริการเพื่อทดสอบ และคาดว่าจะเปิดให้บริการทั่วทั้งโลกได้ในปีหน้า หาก SpaceX สามารถปล่อยดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบโลกได้จำนวนตามที่ตั้งไว้เพื่อครอบคลุมทั่วโลก บริษัทคาดว่าบริการอินเทอร์เน็ตของบริษัทจะเร็วและราคาถูกที่สุดในโลก!

ถือเป็นความท้าทายหนึ่งที่จะดิสรัปบริษัทโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตทั้งโลกเลยทีเดียว ทั้งยังมีนัยสำคัญต่อภาครัฐที่ต้องคิดใหม่ในเรื่องการกำกับดูแลไซเบอร์สเปซใหม่นี้ด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยที่เคยกล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้อาจไม่มีบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยอีกต่อไป ซึ่งอนาคตนั้นก็ใกล้เข้ามาทุกขณะ

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าตื่นเต้นของ “เศรษฐกิจอวกาศ” หรือกิจการอวกาศ ซึ่งเดิมทีอาจดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ด้วยการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันซึ่งเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น เราต่างใช้เทคโนโลยีอวกาศอย่างไม่รู้ตัว เช่น การใช้ GPS Navigate เพื่อช่วยวางแผนเลือกเส้นทางได้อย่างเหมาะสม หรือบริการส่งอาหารดิลิเวอรี่ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ มาทำให้ผู้ต้องการสั่งอาหารและร้านค้าสามารถติดต่อซื้อขายกันได้โดยสะดวก เศรษฐกิจอวกาศจึงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และมีศักยภาพที่จะช่วยให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ที่มีการจ้างงานใหม่ๆ สร้างรายได้และสร้างประโยชน์ต่อสังคม

สำหรับประเทศไทย ถือว่ากำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนที่สำคัญเช่นเดียวกัน โดยล่าสุดคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ที่ประกอบด้วยหน่วยงานรัฐชั้นนำหลายแห่ง ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ พ.ศ.... เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายรองรับกิจการอวกาศอย่างเป็นทางการ และมีหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบในการบูรณาการนโยบายและแผนกิจการอวกาศ รวมถึงพัฒนากิจการอวกาศให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถก้าวสู่ยุคใหม่ของกิจการอวกาศ หรือ New Space Economy

คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติได้มอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือที่รู้จักกันในนาม GISTDA จัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ.กิจการอวกาศ พ.ศ.... ซึ่งจะเป็นกฎหมายส่งเสริมกิจการอวกาศครั้งแรกของประเทศไทยนี้

กฎหมายอวกาศฉบับนี้จะทำให้ไทยมีนโยบายรองรับการเข้าใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศ ที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์สากล สามารถขับเคลื่อนกิจการอวกาศของประเทศให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งมีศูนย์บริการรับคำขอและชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการอนุญาตด้านอวกาศ พร้อมทั้งผลักดันอุตสาหกรรมอวกาศในไทยให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

กิจการอวกาศมีเรื่องที่น่าสนใจมากมาย เช่น การสร้าง ออกแบบ ผลิตดาวเทียม การท่องเที่ยวในอวกาศ การทำเหมืองแร่ในอวกาศ รวมทั้งการสำรวจ วิจัยการทดลองในอวกาศ ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ การสร้างอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับดาวเทียม และการให้บริการระบบโทรเวชกรรมผ่านดาวเทียม

ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศในระดับโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในกรณีประเทศไทย จากการศึกษาอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากกว่า 35,600 กิจการ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางต่อเศรษฐกิจและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี

ในห้วงเวลานี้จึงเป็นห้วงเวลาสำคัญที่เศรษฐกิจอวกาศกำลังเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องเริ่มตื่นตัว ศึกษาหาความรู้และติดตามความก้าวหน้าในเรื่องเหล่านี้ เพื่อสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจอวกาศแห่งอนาคตนี้

ที่ผ่านมา ประเทศไทยโดย GISTDA ที่เปรียบเสมือน NASA ของประเทศไทยก็ได้มีการศึกษา วิจัย ทดลองและส่งดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร รวมถึงวัตถุเพื่อการทดลอง การวิจัยในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง รวมถึงการฝากส่งผลึกโปรตีนในอวกาศกับ SpaceX เพื่อพัฒนายาต้านมาลาเรีย ในอนาคต หากประเทศไทยสามารถดำเนินการนำส่งวัตถุไปสู่อวกาศได้ด้วยตนเอง ก็จะเป็นการยกระดับการวิจัยของคนไทยให้มีความเกี่ยวข้องกับสาขาด้านอวกาศและมีความสามารถที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังมีการเสนอแนวคิดในการสร้าง Space port เพื่อให้บริการสถานที่ส่งหรือสถานที่ลงจอดของจรวดหรือวัตถุอวกาศ ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ของกิจการอวกาศ อีกทั้งมีแนวคิดการพัฒนา Space Habitat บนแนวคิดว่าหากในอนาคตพื้นที่ในโลกไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น อาจจะมีการขึ้นไปสร้างที่อยู่อาศัยในอวกาศ (Space Habitat)

โดยบน Space Habitat จะมีพื้นที่ทดลองการปลูกพืชในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง มีห้องแล็บทดลองการผลิตยารักษาโรค การสร้างฟาร์มและพื้นที่เกษตรกรรมในอวกาศ เป็นต้น จากการพัฒนานี้เองจะทำให้โครงสร้างภาคธุรกิจภายในประเทศมีการขยายตัว และเกิดธุรกิจภาคเอกชน รวมถึงความร่วมมือกับนานาชาติในวงกว้าง

ทุกวันนี้ พรมแดนอวกาศกลายเป็นสิ่งใกล้ตัวขึ้น เราได้ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศในชีวิตประจำวันเป็นปกติ หลายประเทศทั่วโลกต่างกำลังขับเคลื่อนด้านอวกาศอย่างขะมักเขม้น ซึ่งประเทศไทยก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีพื้นฐานที่ดีที่หากทุกฝ่ายร่วมกันผลักดัน ก็จะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศของไทยให้เติบโต สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กไทยรุ่นใหม่ที่มีใจรักในห้วงอวกาศและเอกภพ และวันหนึ่งข้างหน้าเศรษฐกิจอวกาศก็จะกลายเป็นหนึ่งใน “เศรษฐกิจแห่งอนาคต” ของประเทศได้อย่างแน่นอน