'ค้าบริการทางเพศ' เป็นอาชญากรรมหรือไม่?

'ค้าบริการทางเพศ' เป็นอาชญากรรมหรือไม่?

ส่องกฎหมายไทยเกี่ยวกับความผิดเกี่ยวกับการค้าบริการทางเพศ ผ่าน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ที่ปัจจุบันมีการเรียกร้องให้ยกเลิก เนื่องจากมองว่าการค้าบริการทางเพศไม่ถือเป็นอาชญากรรม พร้อมส่องต่างประเทศ มีการจัดการปัญหานี้อย่างไรบ้าง?

การค้าบริการทางเพศ เป็นอาชีพที่อยู่คู่กับสังคมไทยและสังคมโลกมาอย่างยาวนาน ในประเทศไทยการค้าบริการทางเพศเกิดขึ้นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นตามสถานที่สาธารณะ แหล่งท่องเที่ยว หรือแม้แต่ช่องทางออนไลน์ จนได้รับการกล่าวว่าไทยเป็น “แหล่งโสเภณีแห่งเอเชีย” ซึ่งคำกล่าวนี้ขัดกับค่านิยมดั้งเดิมของไทยที่มองว่าการค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการสนับสนุนแนวคิดที่ว่าการค้าบริการทางเพศเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่บุคคลอื่นไม่สามารถก้าวล่วงได้ และเป็นเสรีภาพในการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังมองว่าการค้าบริการไม่ควรถูกกำหนดเป็นการกระทำผิดทางอาญา และผู้ค้าบริการควรได้รับสิทธิและความคุ้มครองตามกฎหมายเฉกเช่นเดียวกับผู้ประกอบอาชีพสุจริตอื่นๆ

ประเด็นข้างต้นกำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน ขณะนี้เริ่มมีการลงชื่อเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ประชาชนกลุ่มดังกล่าวมีแนวคิดว่าการค้าบริการทางเพศไม่ถือเป็นอาชญากรรม อีกทั้งภาครัฐคือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังอยู่ในกระบวนการร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการค้าบริการทางเพศ และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทางออนไลน์ในปี 2564

ในประเทศไทย ความผิดเกี่ยวกับการค้าบริการทางเพศถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ค้าบริการทางเพศและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีทั้งโทษปรับและโทษจำคุก มีการกำหนดฐานความผิดเฉพาะ เช่น ความผิดฐานค้าประเวณี ความผิดฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาบุคคลไปค้าประเวณี ความผิดเกี่ยวกับการเข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณี และความผิดฐานเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี เป็นต้น

เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์การค้าบริการทางเพศในประเทศไทยแล้ว ถึงแม้จะมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าบริการทางเพศ และมีการกำหนดโทษทางอาญา แต่ก็ไม่ได้ช่วยทำให้การค้าบริการทางเพศลดลงแต่อย่างใด กลับขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลายช่องทาง และพบผู้เยาว์เข้าสู่การค้าบริการมากขึ้นอีกด้วย แสดงให้เห็นว่ามาตรการทางกฎหมายยังไม่มีประสิทธิผลในการแก้ปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ การไม่มีกฎหมายรับรองสถานะของผู้ค้าบริการทางเพศ มีผลทำให้ผู้ค้าบริการไม่ได้รับสิทธิ ความคุ้มครอง และสวัสดิการตามกฎหมาย เช่น สิทธิตามกฎหมายแรงงาน เป็นต้น ส่วนผลเสียที่มีต่อรัฐคือ ผู้ค้าบริการไม่ได้เข้าสู่ระบบการเสียภาษี ซ้ำร้ายยังเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการทุจริต เช่นการเรียกเก็บส่วยจากผู้รักษากฎหมาย

สำหรับต่างประเทศ มีการจัดการกับปัญหาการค้าบริการทางเพศแตกต่างกันออกไป ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประเทศที่กำหนดให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ได้แก่ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

  • เยอรมนี

ตามกฎหมายของเยอรมนี การค้าบริการทางเพศไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาแต่อย่างใด เว้นแต่เป็นการค้าบริการที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้ามาเกี่ยวข้อง กฎหมายมีการกำหนดให้ผู้ค้าบริการต้องขึ้นทะเบียนและทำใบอนุญาตต่อหน่วยงานรัฐ โดยก่อนที่จะขึ้นทะเบียนได้ ผู้ค้าบริการต้องเข้าอบรมเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น การป้องกันโรค การป้องกันการตั้งครรภ์ รวมถึงความเสี่ยงจากการดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด

ผู้ค้าบริการมีสิทธิได้รับคำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจากสถานบริการของรัฐ และที่สำคัญกฎหมายยังกำหนดให้ผู้ค้าบริการและผู้ซื้อบริการต้องใช้ถุงยางอนามัย โดยผู้ค้าบริการมีสิทธิปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยได้ นอกจากนี้ ผู้ค้าบริการยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน สามารถเข้าร่วมระบบประกันสุขภาพและได้รับสวัสดิการสังคมต่างๆ

  • เนเธอร์แลนด์

อาชีพค้าบริการและธุรกิจเปิดสถานค้าบริการถือเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลต้องการควบคุมธุรกิจค้าบริการทางเพศให้สามารถตรวจสอบได้ มีความโปร่งใส คุ้มครองสิทธิของผู้ค้าบริการ และป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์

กฎหมายของเนเธอร์แลนด์กำหนดให้ผู้ค้าบริการและผู้ประกอบธุรกิจสถานค้าบริการหน้าที่ต้องเสียภาษี และมีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ จากรัฐเช่นเดียวกับผู้ประกอบอาชีพสุจริตอื่นๆ ทั้งยังกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการ มีการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ค้าบริการที่ 21 ปี และผู้ค้าบริการต้องได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

  • นิวซีแลนด์

มีการออกกฎหมายเพื่อรองรับอาชีพค้าบริการทางเพศ โดยกฎหมายดังกล่าวให้ความคุ้มครองและให้สิทธิผู้ค้าบริการในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง เช่น การได้รับบริการด้านสาธารณสุข การได้รับความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ เป็นต้น ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตการทำงานของผู้ค้าบริการ

นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ยังจัดให้อาชีพค้าบริการเป็นอาชีพทักษะอย่างหนึ่ง ตามเกณฑ์มาตรฐานแรงงานของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (Australian and New Zealand Standard Classification of Occupations) โดยอยู่ในระดับ 5 ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพต้องมีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมขึ้นไป และคนต่างด้าวสามารถยื่นคำขออนุญาตทำงานได้

เมื่อพิจารณาถึงกฎหมายต่างประเทศข้างต้น พบว่ากฎหมายอนุญาตให้มีการค้าบริการโดยไม่ถือเป็นความผิดอาญา แต่ก็ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐในบางประการ เช่น การขึ้นทะเบียน การกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ค้าบริการ เป็นต้น และขณะเดียวกัน รัฐยังให้สิทธิและความคุ้มครองแก่ผู้ค้าบริการเช่นเดียวกับประชาชนคนอื่นๆ ในประเทศ

จากที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศไทยควรมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี โดยการยกเลิกการกำหนดความรับผิดทางอาญาต่อผู้ค้าบริการ เนื่องจากผู้เขียนมองว่า การค้าบริการทางเพศโดยสมัครใจเป็นสิทธิส่วนบุคคล และไม่ควรถือเป็นอาชญากรรม

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐควรให้ความสำคัญกับการปราบปรามการค้าบริการในเด็ก รวมถึงหญิงที่มีลักษณะเป็นการบังคับหรือหลอกลวงอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม