อาชญากรทางช่อง'หน้าต่างแตก'

อาชญากรทางช่อง'หน้าต่างแตก'

หากบ้านใครหน้าต่างแตก ต้องซ่อมให้ไว นอกจากป้องกันเหตุร้ายเล็กๆ น้อยๆ ได้แล้ว ยังช่วยป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงได้ด้วย ลองอ่าน“ทฤษฎีหน้าต่างแตก"แล้วจะเข้าใจดีว่า ทำไมหน้าต่างแตก ต้องซ่อม

ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มีอยู่มากมายในโลกนี้ บ้างก็เหลือเชื่อ บ้างก็เดี๋ยวมองว่าผิด แล้วก็กลายมาเป็นถูก สลับไปมา จะขอแนะนำ “ทฤษฎีหน้าต่างแตก (Broken Windows Theory)” ที่ระบุว่า การรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้ดี เช่น หากหน้าต่างแตกก็ต้องซ่อมให้ไว นอกจากช่วยป้องกันเหตุร้ายเล็กๆ น้อยๆ ได้แล้ว ยังอาจช่วยป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงได้อีกด้วย

ทฤษฎีนี้มีความเป็นมาอย่างไร และเป็นจริงแค่ไหน มีข้อพิสูจน์แน่ชัดหรือไม่ ?

ทฤษฎีดังกล่าวเกิดจากการที่นักวิทยาศาสตร์ 2 คนคือ เจมส์ วิลสัน (James Wilson) และจอร์จ เคลลิง (George Kelling) ตีพิมพ์บทความชื่อ Broken Windows ในวารสาร The Atlantic Monthly ฉบับเดือนมีนาคม 1982 เปเปอร์ฉบับดังกล่าวเล่าถึง กรณีตึกที่มีหน้าต่างบางบานแตกแล้วไม่ซ่อมแซม

ผลก็คือ มักจะมีคนทำหน้าต่างแตกเพิ่ม ก่อนนำไปสู่การย่องเบาหรือลักลอบเข้าไปใช้เป็นที่อาศัยหากเป็นตึกร้าง ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งคือ หากตามทางเท้าหรือท้องถนนที่ไหน เกิดปล่อยให้มีขยะเห็นตำตาแม้แต่น้อย ไม่ช้าขยะก็จะพอกพูนขึ้นเป็นภูเขาเลากาในที่สุด

แต่วิลสันกับเคลลิงไม่ใช่สองคนแรกที่กล่าวถึงเรื่องทำนองนี้ มีนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดชื่อ ฟิลิป ซิมบาร์โด (Philip Zimbardo) เคยทดลองเรื่องนี้ไว้ใน ค.ศ. 1969 การทดลองของซิมบาร์โดน่าสนใจมากครับ

เขาหารถที่ไม่มีป้ายทะเบียนมา 2 คัน คันแรกไปจอดไว้ในบริเวณพาโลอัลโตของรัฐแคลิฟอร์เนีย (แถบของคนมีกินและมีการศึกษา) ส่วนอีกคันไปจอดทิ้งไว้ในเขตบร็องซ์ ย่านคนผิวสียากจน แล้วก็เฝ้าแอบสังเกตการณ์ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับรถบ้าง

ผลก็คือ ขณะที่คันแรกไม่มีใครทำอะไรเลยนานเป็นสัปดาห์ แต่คันหลังนั้นแค่เพียงไม่กี่นาทีหลังจอดทิ้ง ก็มีพ่อแม่และลูกชายมาช่วยกันงัดแบตเตอรีและหม้อน้ำออกไป และเพียง 24 ชั่วโมงหลังจากที่นำรถไปจอด สิ่งที่พอจะมีค่ามีราคาขายได้ก็เหี้ยน ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากนั้นก็มีคนทุบกระจกรถ ตัดเบาะออก

สุดท้ายพวกเด็กๆ ก็ได้ซากรถเป็นสนามเด็กเล่น กลับมาที่รถคันแรกอีกที เมื่อซิมบาร์โดเห็นว่าไม่มีใครทำอะไร เลยเติม “หัวเชื้อ” สักเล็กน้อย เขาใช้ค้อนทุบเพื่อ “เจิม” รถให้ก่อน ได้ผลครับ หลังเปิดพิธีไม่นาน ใครต่อใครก็มาร่วมพิธีกรรมเยอะไปหมด

เขาสังเกตว่าพวกผู้ใหญ่ที่ลงมือในทั้ง 2 กรณี ส่วนใหญ่แต่งตัวดี ผมเผ้าก็ตัดแต่งเรียบร้อย และหน้าตาดูออกจะคอเคเชียน ฝรั้งฝรั่ง มองยังไงก็เป็นคนปกติทั่วไปนี่แหละครับ เขาสรุปว่า เหตุการณ์แบบนี้เกิดได้ทุกที่ แต่จะเกิดเร็วขึ้นชัดเจนในชุมชนที่มองเรื่องพวกนี้ว่าเป็นเรื่อง “ปกติ”

ทฤษฎีนี้โด่งดังขึ้นไปอีก เมื่อ ขสมก.ของกรุงนิวยอร์กจ้างเคลลิงเป็นที่ปรึกษาใน ค.ศ. 1985 ต่อมาเขายังไปเป็นที่ปรึกษาให้กับสถานีตำรวจบอสตันกับลอสแองเจลิสอีกด้วย ปรากฏว่ามีการทดลองนำร่องเอาจริงกับคนพ่นกราฟฟิตี จับกุมผู้โดยสารไม่จ่ายตั๋ว และคนที่ปัสสาวะมั่วซั่วในสถานีรถไฟใต้ดิน ฯลฯ เรียกว่าเป็นนโยบาย “เราจะไม่ทน (zero-tolerance)”

ภายหลังเคลลิง ยังออกหนังสือ ชื่อ Fixing Broken Windows: Restoring Order and Reducing Crime in Our Communities มาใน ค.ศ. 1996 ด้วย โดยเขียนรวมกับแคทรีน โคลส์ และมีผลการศึกษาใน ค.ศ. 2001 ที่ระบุว่า ผลความสำเร็จจากการทำตามทฤษฎีหน้าต่างแตก ทำให้อาชญากรรมในกรุงยอร์กลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แถมหลังจากนั้นก็ยังลดลงต่อเนื่องไปอีก 10 ปี

อีกการทดลองหนึ่งใน ค.ศ. 2005 ก็น่าสนใจ มีการระบุจุดเสี่ยงอาชญากรรมรวม 34 จุดในเมืองโลเวลล์ (Lowell) รัฐแมสซาชูเซตต์ จากนั้นครึ่งหนึ่งก็ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปจัดการเก็บขยะ ซ่อมไฟถนน ช่วยเหลือพวกคนไร้บ้าน ให้บริการด้านสุขภาพจิตเพิ่มเติม และบังคับใช้กฎหมายอาคารอย่างเข้มงวด รวมทั้งจับกุมผู้ทิ้งขยะเรี่ยราดและทำผิดลหุโทษอื่นๆ

ส่วนอีก 17 จุดที่เหลือปล่อยให้มีการจัดการแบบเดิม ผลก็คือฝั่งที่บังคับใช้มาตรการต่างๆ มีการแจ้งความลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ และยังสรุปเพิ่มเติมได้อีกว่า การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทางกายมีประสิทธิภาพดีกว่าการจับกุมความผิดมโนสาเร่ แต่การเพิ่มบริการสังคมต่างๆ ไม่ได้มีส่วนช่วยลดอาชญากรรม

ระหว่าง ค.ศ. 2004–2006 มีการทดลองในโรงเรียนมัธยมต้น 33 แห่งของสหรัฐฯ (ตีพิมพ์ใน American Journal of Education) ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การปรับสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพไม่ได้ทำให้การเรียนการสอนดีขึ้น แต่หากไม่ปรับก็จะมีปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างมาก

ในประเทศเนเธอร์แลนด์ระหว่าง ค.ศ. 2007–2008 ก็มีการทดลองคล้ายกันแบบนี้ในหลายเมือง นักวิจัยก็พบว่าทฤษฎีนี้ได้ผลจริง และตีพิมพ์ผลการทดลองในวารสาร Science ด้วย

พูดไปพูดมาก็ดูเหมือนทฤษฎี “หน้าต่างแตก” นี้ใช้การได้ดีมาก หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ใช้การได้แน่ๆ แต่ก็มีคนไม่เห็นด้วย ข้อโต้แย้งที่ยกขึ้นมา เช่น เรื่องสถิติอาชญากรรมในกรุงนิวยอร์กที่ลดลงนั้น

อันที่จริงเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีมากเป็นพิเศษในช่วงทศวรรษ 1990 ต่างหาก หรือบ้างก็ว่าอาจจะเป็นผลจากนโยบายการทำแท้งเสรีมากกว่า ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือ เศรษฐพิลึก (Freakonomics)

อีกประเด็นที่ถกเถียงกัน ก็คือ ความไร้ระเบียบกับอาชญากรรม อาจจะไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และอาจจะไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรงอีกด้วย การโยงต้นเหตุและผลลัพธ์ตามทฤษฎีหน้าต่างแตก จึงเป็นการตีความอย่างผิดพลาด และยิ่งกว่านั้นมาตรการ “จัดระเบียบ” ที่ใช้มักไปลงที่คนผิวสี คนกลุ่มน้อย คนไร้บ้าน และคนจน เป็นพิเศษ จึงกลายเป็นนโยบายที่ “เลือกปฏิบัติ”

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้มีการทดลองสนับสนุนนะครับ แต่ยาวเกินกว่าจะลงรายละเอียดได้หมดในที่นี้

อย่างไรก็ตาม การป้องปรามและจัดระเบียบ ก็คงพอมีประโยชน์ลดอาชญากรรมบางอย่างได้บ้าง แต่จะได้ผลจริงจังหรือคุ้มค่าหรือไม่ ก็อาจจะต้องรอผลสรุปจากการวิจัยที่จะมีมาในอนาคตต่อไปนะครับ