‘บิทคอยน์’ การกลับมาอีกครั้ง

‘บิทคอยน์’ การกลับมาอีกครั้ง

จับตา "บิทคอยน์" สกุลเงินดิจิทัลที่กลับมาราคาพุ่งทะยานสูงสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งการกลับมาไม่เหมือนกับในอดีตที่คนแห่มาซื้อเพราะต้องการรวยทางรัด แต่มาในฐานะทรัพย์สินตัวหนึ่งที่ปลอดภัยและสามารถรักษาเงินต้นที่ลงทุนไปได้

เมื่อย้อนกลับไปประมาณช่วงปี 2560 เป็นช่วงที่ตลาดของเหรียญสกุลดิจิทัลอย่างบิทคอยน์ ได้รับการจับตามองเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่าราคาของบิทคอยน์ได้พุ่งสูงขึ้นไปอย่างน่าตกใจ ตอนเดือน ก.ย.ของปีนั้นราคาบิทคอยน์อยู่ที่ 4,700 ดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 3 เดือนตอนเดือน ธ.ค.ของปีนั้นเอง ราคาขึ้นเกือบ 4 เท่าจนกลายเป็นเกือบ 20,000 ดอลลาร์ หลังจากนั้นเป็นต้นมาราคาก็ค่อยๆ ไหลลงไปเรื่อยๆ จนไปแตะจุดต่ำสุดที่ 3,400 ดอลลาร์ในเดือน ม.ค.2562 

แต่ไม่นานมานี้ราคาของบิทคอยน์ได้ขึ้นทะยานสู่จุดสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ประมาณ 13,840 ดอลลาร์เมื่อประมาณวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา การขึ้นรอบนี้ไม่เหมือนรอบก่อนที่คนแห่กันมาซื้อบิทคอยน์ เพื่อหวังจะรวยทางลัดกัน แต่รอบนี้ได้มีปัจจัยหนุนรอบข้างทั้งการที่บิทคอยน์เข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทอย่างเพย์พาล (Paypal) การที่ราคาน้ำมันทั่วโลกตกต่ำลง และการที่ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ตกกันระเนระนาด ทำให้นักลงทุนและสถาบันการเงินทั่วโลกได้เข้ามาสู่ตลาดของคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมองว่าเป็นทรัพย์สินตัวหนึ่งที่ปลอดภัยและสามารถรักษาเงินต้นที่ลงทุนไปได้

หากเรามองย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของคริปโตเคอร์เรนซี แน่นอนว่าสกุลเงินคริปโตเคอเรนซีแรกของโลกคือ บิทคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งถูกก่อตั้งโดยกลุ่มคนหรือบุคคลที่ใช้นามสมมติว่าซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) เมื่อเดือน ม.ค.2552 เหตุผลที่ทางคุณซาโตชิสร้างบิทคอยน์ขึ้นมาเพื่อที่ปกป้องสินทรัพย์ของพวกเขา 

พวกเขามองว่าถ้ารัฐบาลสามารถพิมพ์เงินออกมาเท่าไรก็ได้ ในที่สุดสักวันสกุลเงินเหล่านี้ก็ต้องพังทลายลงมาเหมือนกับที่เกิดขึ้นที่ประเทศซิมบับเว และเขามองอีกว่าเราควรมีสกุลเงินเป็นของตัวเองที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับรัฐบาลไหนๆ หรือธนาคารไหน ซึ่งแนวความคิดนี้ที่จะมีสกุลเงินโลก หรือสกุลเงินของตัวเองไม่ใช่ความคิดใหม่ ตอนที่ อีลอน มัสค์ สร้างเพย์แพลขึ้นมานั้นตอนแรกเขาอยากสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองขึ้นมา แต่ติดปัญหาตรงที่ว่าเทคโนโลยีในสมัยนั้นไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้าง จึงกลายเป็นแค่ช่องทางการจ่ายเงินออนไลน์เท่านั้น 

ตอนที่บิทคอยน์เข้ามาในโลกนั้นในปี 2552 บิทคอยน์ต้องมีการขุดคล้ายๆ ทองที่ก็ต้องขุดออกมาจากเหมืองทอง สิ่งนี้เองที่จะถูกเรียกว่าบล็อกเชน ซึ่งทำหน้าที่ทั้งเป็นเหมือนที่เก็บข้อมูลโค้ดต่างๆ ในการขุดบิทคอยน์ และการซื้อขายแลกเปลี่ยนบิทคอยน์ระหว่างกัน สิ่งนี้ทำให้บิทคอยน์สามารถเชื่อถือได้ และปลอดภัยจากการถูกแฮ็กข้อมูลและการโกง

นอกจากนั้นเองเทคโนโลยีบล็อกเชนยังช่วยให้บิทคอยน์สามารถที่จะมีจำนวนจำกัดบนโลกนี้ เปรียบเสมือนทองคำที่ต่อให้ขุดจนหมดโลกแล้วก็ไม่สามารถที่จะผลิตเพิ่มออกมาได้ สิ่งนี้เองทำให้บิทคอยน์มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยน เพราะไม่มีหน่วยงานใดๆ ที่สามารถปลอมแปลงบิทคอยน์ขึ้นมา เพราะบิทคอยน์มีจำนวนจำกัดอยู่เพียงแค่ 21 ล้าน BTC (สกุลเงินของบิทคอยน์) เท่านั้น

การมีบิทคอยน์ไว้ครอบครองในมือมีทั้งหมด 2 วิธี คือ การที่เราขุดบิทคอยน์ออกมาจากบล็อกเชน ผ่านฮาร์ดแวร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ ตอนแรกที่บิทคอยน์ถูกขุดออกมาจะได้ทั้งหมด 50 BTC ในแต่ละชั่วโมง แต่ทุกวันนี้จะเหลือเพียงแค่ 6.25 BTC เท่านั้น เพราะประมาณทุกๆ 4 ปีจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Bitcoin Halving คือการลดจำนวนที่ขุดได้เหลือเพียงแค่ครึ่งเดียว ซึ่งครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นคือเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้การขุดบิทคอยน์ไม่คุ้มเหมือนสมัยก่อน 

วิธีถัดมาคือ การซื้อขายแลกเปลี่ยนบิทคอยน์ผ่านเว็บกลางอย่าง Binance หรือเว็บไทยอย่าง bitkub.com ซึ่งสามารถที่จะเอาสกุลเงินไทยบาทของเรา ไปฝากไว้บนเว็บไซต์ ผ่านบัญชีธนาคารของเราบนมือถือได้เลย ซึ่งราคาของบิทคอยน์นั้นก็อิงกับตลาดซื้อขายในตลาดโลก

ตลาดการซื้อขายบิทคอยน์มีข้อดีอย่างหนึ่งที่ผมชอบมากคือ ตลาดไม่มีเวลาเปิดปิดตลอด 365 วันต่อปี นั่นหมายความว่าคุณสามารถทำกำไร หรือขาดทุนของบิทคอยน์ได้ แม้กระทั่งยามนอน ทุกวันนี้ตลาดของคริปโตเคอเรนซีเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีเหรียญคริปโตเคอเรนซีอยู่บนโลกมากกว่า 5,000 เหรียญ และมีประมาณ 100 เหรียญที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเหรียญในตลาดซื้อขาย แต่ละเหรียญก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป 

บางเหรียญไม่สามารถขุดได้อย่างเหรียญ Ripple (XRP) หรือ Polkadot (DOT) บางเหรียญอ้างอิงกับสินทรัพย์อื่นอย่าง Tether (USDT) ที่อ้างอิงกับเงินดอลลาร์เป็นหลัก และทุกวันนี้เราก็ยังมีเหรียญคริปโตเคอเรนซีที่มาจากฝีมือคนไทยแล้ว อย่าง ZCoin (XZC), OmiseGO (OMG), JFinCoin (JFIN) และเหรียญอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งตอนนี้แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็พยายามสร้างเหรียญคริปโตเคอเรนซีของตัวเองอยู่ที่มีชื่อว่า “อินทนนท์”

คราวนี้เมื่อย้อนกลับไปดูสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่าสูงสุดในปีที่ผ่านมา จะพบว่าบิทคอยน์นั้นมีกำไรสูงสุดในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยมากกว่าโลหะเงิน ทองคำ ตลาดหุ้น NASDAQ ที่สหรัฐ ที่รวมหุ้นเทคโนโลยี เช่น Facebook Apple Amazon Netflix และ Google หรือที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่ากลุ่ม FAANG ในอนาคตจึงเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก 

เพราะว่าในสมัยตอนปี 2560 บิทคอยน์ส่วนใหญ่นั้นอยู่ในมือของคนไม่กี่คน จึงทำให้สามารถปั่นราคาได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่การเข้ามาของสถาบันการเงิน กองทุนต่างๆ จากทั่วโลก ทำให้ราคาของบิทคอยน์แม้จะเติบโตอย่างมาก แต่ก็ยังสร้างเสถียรภาพให้กับบิทคอยน์มากยิ่งขึ้น ทำให้ตลาดยากที่จะเกิดความผันผวนที่จะซ้ำรอยเดิมกับปี 2560 ที่ผ่านมา 

จึงเป็นเรื่องน่าติดตามอย่างยิ่งว่าในอนาคตอันใกล้นี้ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีวัคซีนออกมา และตลาดหุ้นที่ยังคงรักษาฐานไม่ได้นั้น จะทำให้ราคาของบิทคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีรายอื่นๆ วิ่งสูงถึงจุดไหน