'การบินไทย' ขายฝูงบินล็อตใหญ่! หนุนฟื้นองค์กร

'การบินไทย' ขายฝูงบินล็อตใหญ่! หนุนฟื้นองค์กร

"การบินไทย" สร้างความฮือฮาอีกครั้ง จากการประกาศขายอากาศยานมือสอง ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่เป็นข่าวแชร์กันทั่วโซเชียลในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

เพราะถือเป็นการประกาศขายล็อตใหญ่ รวมจำนวนอากาศยาน 34 ลำ และเป็นการประกาศขายในช่วงที่บริษัทฯ กำลังเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการตามกระบวนการศาลล้มละลาย

โดยความพยายามขายอากาศยานมือสองของการบินไทยครั้งนี้ ไม่ได้เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะการบินไทยได้ปลดระวางอากาศยานรุ่นเก่าไม่สอดรับกับความต้องการในการใช้งาน เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงสูงมานานหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อากาศยานรุ่นแอร์บัส A340 ที่ถูกจอดทิ้งมานานราว 6 ปี ภายหลังซื้อเข้ามาในช่วงปี 2547-2548 และได้ยกเลิกทำการบินในช่วงปี 2557-2558

จากการตรวจสอบข้อมูลการประกาศขายอากาศยานมือสองของการบินไทยครั้งล่าสุดนี้ ประกอบไปด้วย

  1. A300-600 จำนวน 1 ลำ
  2. B737-400 จำนวน 2 ลำ
  3. A340-500 จำนวน 3 ลำ
  4. A340-600 จำนวน 6 ลำ
  5. B747-400 จำนวน 10 ลำ
  6. B777-200 จำนวน 6 ลำ
  7. B777-300 จำนวน 6 ลำ

อย่างไรก็ดี หากเทียบจากข้อมูลอากาศยานที่ประกาศขายในช่วงปี 2562 พบว่าในช่วงดังกล่าวอากาศยานรอการขายมีจำนวนราว 20 ลำ เป็นตระกูลแอร์บัส A340 A300 และโบอิ้ง B737 ดังนั้นการประกาศขายรอบใหม่นี้ แม้ไม่ได้เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์ของการปลดระวางเครื่องบินล็อตใหม่ของการบินไทย เพิ่มเติมรอการขายเป็นจำนวนไม่น้อยอีก 22 ลำ คือ ตระกูล โบอิ้ง B747-400 B777-200 และ B777-300

โดยแหล่งข่าวจากการบินไทย เปิดเผยข้อมูลในประเด็นนี้ว่า ตามแผนฟื้นฟูองค์กรบริษัทมีการกำหนดกลยุทธ์การปรับปรุงฝูงบิน (Fleet Strategy) ด้วยการลดประเภทเครื่องบินและเร่งขายเครื่องบินที่ปลดระวาง เพื่อเร่งปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำการบิน และปรับฝูงบินให้สอดคล้องกับการให้บริการเส้นทางบินในปัจจุบัน อีกทั้งมีมาตรการเร่งขายอากาศยานที่ปลดระวาง พร้อมทั้งคืนอากาศยานเช่า เพื่อลดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงด้วย

“การบินไทยเราปลดระวางอากาศยานเก่าเพื่อนำมาขายมือสองเพิ่มเติม 22 ลำ เพราะต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุง เนื่องจากเครื่องค่อนข้างมีอายุการใช้งานสูงประมาณ 20 ปี และการขายอากาศยานเหล่านี้ก็จะเป็นอีกทางเพิ่มรายได้เข้าองค์กรเพื่อนำมาบริหารจัดการด้านอื่นๆ ด้วย”

อย่างไรก็ดี จากการประกาศขายอากาศยานมือสองของการบินไทยมาอย่างต่อเนื่อง ต้องยอมรับว่าอากาศยานที่ไม่ตอบรับกับความต้องการของตลาดมากที่สุด คือ ตระกูลแอร์บัส A340 ที่มีจำนวนขายอยู่ 9 ลำ เพราะเป็นอากาศยานลำตัวกว้าง ต้องทำการบินพิสัยไกล ไม่เป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมการบิน แม้ว่าที่ผ่านมาการบินไทยจะประกาศขายไปแล้วหลายครั้ง อีกทั้งในปี 2562 ที่ผ่านมา จะมีการเจรจาขายให้แก่ผู้ซื้อรายหนึ่งในเอเชียได้แล้ว ในจำนวน 8 ลำ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถตกลงในสัญญาซื้อขายร่วมกันได้

สำหรับการประกาศขายเครื่องบินมือสองของการบินไทย จำนวน 34 ลำบนเว็บไซต์ http://thaiaircrafttrading.com ครั้งนี้ ฝ่ายประชาสัมพันธ์การบินไทย ได้ชี้แจงว่า การประกาศขายเครื่องบินดังกล่าวเป็นขั้นตอนการสำรวจตลาดเพื่อหาผู้สนใจซื้อเครื่องบินมือสอง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินการขายทรัพย์ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งขั้นตอนการขายนั้นจะเกิดขึ้นในอนาคตและจะเป็นไปตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจซื้ออากาศยานของการบินไทยตามประกาศดังกล่าว สามารถเสนอราคาได้ถึง 13 พ.ย.นี้ ไม่ว่าการปลดระวางและขายอากาศยานของการบินไทยครั้งนี้จะมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุน หรือเพราะต้องการกระแสเงินสดมาเสริมสภาพคล่อง ก็คงต้องจับตาดูถึงผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้น หวังเพียงแต่ว่าจะเกิดเป็นประโยชน์ข้อใดข้อหนึ่ง เพื่อหนุนฟื้นฟูองค์กร ไม่ซ้ำรอยอากาศยานบริการภาคพื้นดิน