‘อีเอ-เดลต้า’รับอานิสงส์ยานยนต์ไฟฟ้าไทยบูม!

‘อีเอ-เดลต้า’รับอานิสงส์ยานยนต์ไฟฟ้าไทยบูม!

“ยานยนต์ไฟฟ้า” เป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน เพื่อหวังยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาต่อยอดการผลิตรถยนต์ของไทยให้สอดรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไป

โดยขณะนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ทำให้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะค่อยๆ ลดความสำคัญลงเรื่อยๆ และถูกแทนที่ด้วยพลังงานสะอาด

สำหรับประเทศไทยรัฐบาลโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เปิดให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2560 และได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ จักรยานยนต์ และรถบัสไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในระยะยาว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน

โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอแล้วทั้งหมด 26 โครงการ มูลค่าลงทุน 78,099 ล้านบาท กำลังการผลิตรวม 560,000 คัน ซึ่งขณะนี้มี 7 โครงการ ที่ได้เริ่มการผลิตและจำหน่ายแล้ว แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) 3 ราย ได้แก่ นิสสัน, ฮอนด้า และโตโยต้า

รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) 2 ราย ได้แก่ เมอร์เซเดส เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) อีก 2 ราย ได้แก่ ฟอมม์ และทาคาโน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอีก 14 โครงการ

ปัจจุบันคนไทยเริ่มคุ้นเคยและเปิดรับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐภาคเอกชน บริษัทผู้ผลิต โรงงานแบตเตอรี่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ไปจนถึงการไฟฟ้า เดินหน้าให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าค่อยๆ เป็นที่นิยมมากขึ้น

โดยรัฐบาลได้ประกาศแผน 30@30 ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของกำลังการผลิตยานยนต์ทั้งประเทศภายในปี 2573 โดยจะมีการยกระดับสิทธิประโยชน์ มาตรการจูงใจต่างๆ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการลงทุน

ล่าสุด บอร์ดบีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้ารอบใหม่ ซึ่งครั้งนี้จัดเต็มกว่าเดิมเพราะครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี กรณีลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท และยกเว้นภาษี 3 ปี กรณีขนาดการลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังรวมถึงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ สามล้อไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รถโดยสารไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ส่วนเรือไฟฟ้าจะได้รับสิทธิเว้นภาษี 8 ปี

เชื่อว่าหลังบีโอไอไฟเขียวส่งเสริมการลงทุนครั้งใหม่น่าจะช่วยจุดพลุกระแสรถอีวีบ้านเราคึกคักขึ้น ซึ่งในมุมตลาดทุนมีหุ้นอยู่หลายตัวที่จะได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย ทั้งกลุ่มผู้ผลิตอย่างบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ซึ่งทำธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร มีทั้งรถยนต์ไฟฟ้า “MINE SPA1”, เรือไฟฟ้า “MINE Smart Ferry” ให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยา

รวมทั้งยังมีสถานีชาร์จไฟฟ้า “EA Anywhere” และโรงงานแบตเตอรี่กำลังการผลิตเฟสแรก 1 กิกะวัตต์ ที่คาดเริ่มผลิตในเดือน ก.พ. 2564 นอกจากนี้ บริษัทได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ผู้ผลิตรถบัสไฟฟ้า ถือหุ้นในสัดส่วน 40% โดยมีแผนเข้าประมูลรถเมล์ไฟฟ้าขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 2,511 คัน ที่เตรียมเปิดประมูลปลายปีนี้

ด้านบริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT เป็นอีกบริษัทที่ขยับเข้ามาลงทุนในธุรกิจรถไฟฟ้า โดยลงทุนผ่านบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเดิมเป็นผู้ออกแบบและประกอบเรืออลูมิเนียมและรถบัสอลูมิเนียม ก่อนต่อยอดไปสู่การต่อเรือและรถบัสไฟฟ้า

ขณะที่กลุ่มบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU จะได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตาไฟฟ้า และเรือไฟฟ้านำเที่ยวทางทะเล

อีกหนึ่งหัวใจที่จะช่วยเติมเต็มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือ สถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เป็นอีกบริษัทหันมารุกธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ดีมานด์สถานีชาร์จต้องเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ส่วนที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลยคือ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี เพราะจะได้ประโยชน์จากการขยายกำลังการผลิตของบรรดาค่ายรถยนต์ต่างๆ รวมทั้งอีกหลายๆ บริษัทที่มีแผนจะเข้ามาลงทุนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา ดาวเด่นหนีไม่พ้น บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ซึ่งมีที่ดินในอีอีซีจำนวนมาก