สกัดด่วน! ชัยภูมิประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ ควบคุมโรคปากเท้าเปื่อย

สกัดด่วน! ชัยภูมิประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ ควบคุมโรคปากเท้าเปื่อย

ด่วน! เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคปากเท้าเปื่อย ในวัวควายเริ่มระบาด ปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิประกาศเป็นพื้นที่เขตควบคุมโรค ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ชั่วคราว 30 วัน เร่งฉีดวัคซีน ป้องกันทั้งโรคปากเท้าเปื่อย และโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย ทุกอำเภอ

( 6 พ.ย.63 ) ปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ รับรายงานการเกิดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์จำพวกวัว ควาย ล่าสุดพบวัวของเกษตรกร ตายด้วยโรคปากเท้าเปื่อย ในพื้นที่อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จำนวน 1 ตัว ทางจังหวัดชัยภูมิ ต้องประกาศเป็นเขตระบาดโรคสัตว์ชั่วคราว เพื่อเร่งช่วยกันควบคุมโรคปากเท้าเปื่อย ใน อ.บ้านแท่น รวมไปถึงรอยต่อ อ.เกษตรสมบูรณ์ อ.ภูเขียว อ.ซับใหญ่ และ อ.เมืองชัยภูมิ

นางศรีสมัย โชติวานิช ปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางปศุสัตว์ทุกพื้นที่ได้เร่งนำทีมงานเจ้าหน้าที่ออก Kick Off ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย ในทุกพื้นที่ ทุกอำเภอ จ.ชัยภูมิ อยากให้เกษตรกรมีความตื่นตัว นำวัวควายของตนเองมารับการฉีดวัคซีนกันให้มากขึ้น เพราะช่วงนี้ปรับเปลี่ยนฤดู ทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดความอ่อนแอ และเครียด มีโอกาสติดโรคได้ง่าย ส่วนวัวที่ตาย 1 ตัว ที่บ้านแท่น ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ และให้การช่วยเหลือเป็นการด่วนแล้ว

โดยพบปัญหา พื้นที่คอกวัว ควาย ของชาวบ้านมีสภาพชื้นแฉะ จึงขอให้รีบเคลื่อนย้ายวัว ควายที่เหลือไปไว้ในคอกที่แห้ง แล้วรีบฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยให้กับวัวที่เหลือในคอกทั้งหมดทันที

ซึ่งในช่วงอากาศที่หนาวเย็น ยังทำให้เชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อยอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนานขึ้น เมื่อสัตว์ป่วยจะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร มีตุ่มพองหรือแผล บริเวณลิ้น ช่องปาก ริมฝีปาก เต้านม รวมทั้งกีบ ส่งผลให้สัตว์มีน้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเดินกะเผลก โดยทั่วไปโรคปากและเท้าเปื่อยมักไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ที่โตเต็มวัยตาย แต่สัตว์อาจตายได้จากการติดเชื้อแทรกซ้อน สัตว์เบื่ออาหารและอ่อนแอ เป็นสาเหตุการตายในลูกสัตว์ จำพวกวัว ควาย แพะ แกะได้ หลังมีการประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวชนิดโรคปากและเท้าเปื่อยแล้ว

ช่วงนี้ก็ต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกพื้นที่ต้องงด เพื่อไม่มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ไว้ก่อนจากนี้ไปในตลอดช่วง 30 วันจากนี้ไปด้วย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดในวัว ควาย เพื่อช่วยลดความสูญเสียและการตายในวัว ควายเพิ่มในพื้นที่