‘ลาซาด้า’ โหมแคมเปญ11.11 ชิงอีคอมเมิร์ซไตรมาสสี่

‘ลาซาด้า’ โหมแคมเปญ11.11 ชิงอีคอมเมิร์ซไตรมาสสี่

ลาซาด้าลงทุนในไทยมากขึ้นทุกปี สอดคล้องไปกับการเติบโตของธุรกิจและตลาด

ไพรซ์ซ่าคาดการณ์ไว้ว่าปี 2563 อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซประเทศไทยจะมีมูลค่า 2.2 แสนล้านบาท เติบโต 35% จากปี 2562 จากเดิมอีคอมเมิร์ซมีสัดส่วนราว 3% ของอุตสาหกรรมค้าปลีก ปีนี้คาดว่าจะขยับขึ้นมาแตะ 4-5% โอกาสการเติบโตยังมีอยู่อีกมาก แม้สภาวะเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย แต่ลาซาด้าพบว่าแม้ผู้บริโภคจะไม่ได้ซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ที่มีราคาสูง แต่ยังคงมีการจับจ่ายสินค้าชิ้นเล็กๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“อีคอมเมิร์ซกลายเป็นนาวนอร์มอล ไม่ใช่นิวนอร์มอล ทุกวันนี้ผู้บริโภคเริ่มไว้ใจและมีความคุ้นชินกับการชอปปิงออนไลน์ ด้านลาซาด้าเองมีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นทุกปี สอดคล้องไปกับการเติบโตของธุรกิจและตลาด” ภารดี กล่าว

แจ็ค จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย เผยว่า 10 เดือนที่ผ่านมาได้เห็นตัวเลขการเติบโตของผู้ขายบนแพลตฟอร์มลาซาด้าที่สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องมากถึง 75% ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อพุ่งสูงกว่า 100% จำนวนยอดขายเติบโต 60%

โควิด-19 หนุนตลาดโตแรง

ผลสำรวจโดยทวิตเตอร์ระบุว่า โปรโมชั่นของวันแห่งการชอปปิงไม่ว่าจะเป็น 7.7, 8.8, 9.9, 10.10, 11.11 และ 12.12 กลายเป็นช่วงเวลาของการสร้างมูลค่าที่มหาศาลสำหรับวงการค้าปลีกไทย ด้วยปัจจุบันมีสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตราว 75% ช่วงระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลาดอีคอมเมิร์ซและเอ็มคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่ารวมกันราว 3.98 หมื่นล้านดอลลาร์

อาร์วินเดอร์ กุจรัล กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวิตเตอร์ กล่าวว่า มาตรการรัฐที่ขอให้กักตัวอยู่บ้าน #StayAtHome กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาชอปปิงออนไลน์ การดิสรัปที่สำคัญครั้งนี้ยังส่งผลไปถึงไลฟ์สไตล์ของผู้คนในการเลือกซื้อสินค้าและทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล ด้านแบรนด์ต่างๆ หันมาลงทุนศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคกันมากขึ้น

ข้อมูลระบุว่า บทสนทนาที่พูดคุยเกี่ยวกับการชอปปิงบนทวิตเตอร์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และจะพีคที่สุดช่วงใกล้ๆ เทศกาลชอปปิงออนไลน์ทั้งก่อนและหลังวันที่มีการจัดโปรโมชั่น ในไทยมีผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่นิยมซื้อของออนไลน์มากกว่า 4 ใน 5 คน

ดังนั้นแบรนด์จึงควรทำความเข้าใจเทรนด์ผู้บริโภค โดยเฉพาะ 3 ปัจจัยได้แก่ 1.ผู้บริโภคเลือกซื้ออะไรกันบ้าง ซึ่ง 5 ผลิตภัณฑ์ที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในไทยนิยมสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา คือ 1.แชมพู 84.7% 2.น้ำยาปรับผ้านุ่ม 75.6% 3. น้ำยาซักผ้า / ผงซักฟอก 74.2% 4.ครีมนวดผม 66.9% และ 5.เสื้อผ้า 66.7%

ขณะที่ 2.ปัจจัยหลักในการช่วยกระตุ้นผู้บริโภคตัดสินใจซื้อของทางออนไลน์ มี 4 เหตุผลหลัก ที่ผู้บริโภคชาวไทยเลือกช้อปออนไลน์ คือ 1.จัดส่งฟรี 63% 2.ส่วนลดต่างๆ 57% 3.จ่ายเงินเมื่อได้รับสินค้า 45% และ 4.เสียงสนับสนุนและการพูดถึงของผลิตภัณฑ์นั้นๆ 39% 

ส่วนปัจจัยที่ 3.ผู้บริโภคสนใจในเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ทวิตเตอร์พบว่า ผู้หญิงคือกลุ่มที่นิยมพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องชอปปิงบนทวิตเตอร์มากที่สุดในไทย โดยรวม 94% ของนักช้อปมักหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ

160466256145