'ปชป.' ขอทุกฝ่ายใจเย็น อย่าติเรือทั้งโกลน รอดูคกก.สมานฉันท์

'ปชป.' ขอทุกฝ่ายใจเย็น อย่าติเรือทั้งโกลน รอดูคกก.สมานฉันท์

"ราเมศ" หนุนดึงอดีตนายกฯ-อดีตประธานสภาฯ ร่วมวง คกก.สมานฉันท์ จี้ทุกฝ่ายลดกำแพง เปิดทางสร้างปรองดองได้จริง

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพูดคุย เรื่องโครงสร้างรูปแบบของคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งความเห็นของทุกฝ่ายต่อการเริ่มต้นในจุดนี้เป็นเรื่องที่สำคัญว่าจะกำหนดให้เป็นแบบใด เชื่อว่าสถาบันพระปกเกล้ารับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อกำหนดให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องตัวบุคคลเป็นอีกเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะการที่ประธานรัฐสภามีแนวคิดที่จะให้มีอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภาเข้ามาร่วม ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่อยากให้ทุกฝ่ายมีกำแพงออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เนื่องจากการสมานฉันท์ควรเริ่มต้นจากการช่วยกันคิดที่ดี ลดการใช้วาจาที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด

"ทุกฝ่ายควรตั้งต้นคิดเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ หากคิดแต่เพื่อประโยชน์ของฝ่ายตนเอง จะไม่มีทางที่จะเกิดสมานฉันท์ ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศตัวไม่เข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น เชื่อว่าหากเห็นโครงสร้างและรูปแบบ และมีการพูดคุยกันอาจจะเข้ามาร่วมก็เป็นได้"นายราเมศ กล่าว

ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ..นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อความปรองดองรู้สึกเป็นห่วงในความพยายามและความตั้งใจจริงของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ได้รับมอบภารกิจจากที่ประชุม ร่วมรัฐสภาให้นำข้อเสนอการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อความปรองดอง จากข้อสรุปการอภิปราย ตามมาตรา 165 มอบให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการ และในภารกิจดังกล่าว นายชวนพยายามผลักดันให้เป็นรูปธรรม โดยใช้รูปแบบคณะกรรมการ จากการศึกษาและข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า ในเบื้องต้นได้ทาบทามอดีตนายกรัฐมนตรี 4 คน ประกอบด้วย นายอานันท์ ปัณยารชุน พล..ชวลิตยงใจยุทธ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ที่เป็นบุคคลเป้าหมายเบื้องต้น เพื่อเข้ามาเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์

"ในขณะเดียวกันก็มีเสียงคัดค้าน และประกาศไม่เข้าร่วมจากบางฝ่าย ทั้ง ..พรรคร่วมรัฐบาลบางคน พรรคร่วมฝ่ายค้านบางพรรคและกลุ่มคณะราษฎร 2563 ซึ่งแต่ละฝ่ายมีการตั้งธง และมีเป้าหมายของตัวเองไว้ก่อนแล้ว"นายเทพไท กล่าว

ทั้งนี้ นายเทพไท ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายอย่ามองโลกในแง่ร้าย ขอให้เปิดใจกว้างรับฟังความเห็น และศึกษาแนวทางการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้เสียก่อนว่า มีทิศทางและกรอบการทำงานอย่างไร ก่อนที่จะแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ออกไปโดยไม่ทราบข้อเท็จจริง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศทางการเมืองของประเทศ อย่าให้การประชุมร่วมกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินต้องสูญเปล่า

"ขอให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ รอดูการทำงานหรือความคืบหน้าของคณะกรรมการสมานฉันท์ไปอีกสักระยะ ก่อนวิพากษ์วิจารณ์และตัดสินใจจะเข้าร่วมกับคณะกรรมการชุดนี้หรือไม่ อย่าด่วนตัดสินใจหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ เพราะกระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพิ่งเริ่มต้น ขอให้ทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่างเสียก่อน อย่าเพิ่งใจร้อน ติเรือทั้งโกลนเหมือนที่สุภาษิตโบราณว่าไว้"นายเทพไท กล่าว