‘นกแอร์’ ลุยแผนฟื้นฟูกู้วิกฤติ! จ่อรื้อสัญญาเช่าเครื่องบินแก้หนี้ท่วม

‘นกแอร์’ ลุยแผนฟื้นฟูกู้วิกฤติ!  จ่อรื้อสัญญาเช่าเครื่องบินแก้หนี้ท่วม

ได้คำตอบชัดเจนแล้ว! สำหรับกรณี “นกแอร์” ขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

เพราะวานนี้ (4 พ.ย.) ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) และแต่งตั้งบริษัท แกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ๊ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับปริญญา ไววัฒนา, ไต้ ชอง อี, เกษมสันต์ วีระกุล, วุฒิภูมิ จุฬางกูร และชวลิต อัตถศาสตร์ เป็นผู้ทำแผน เนื่องจากนกแอร์ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลฯ เพราะมีหนี้สิน 2.6 หมื่นล้านบาท มากกว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ 2.3 หมื่นล้านบาท โดยหนี้สินส่วนใหญ่เป็นค่าเช่าเครื่องบิน มีเจ้าหนี้ในต่างประเทศกว่า 10 ราย

ส่งผลให้นกแอร์เป็นสายการบินที่ 2 ของไทยที่เดินสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ตามรอยการบินไทย!

เกษมสันต์ วีระกุล กรรมการ บมจ.สายการบินนกแอร์ เล่าว่า บริษัทฯจะยื่นแผนฟื้นฟูกิจการให้เร็วที่สุดภายในเดือน ม.ค.2564 ตามกำหนด 3 เดือนนับตั้งแต่วานนี้ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่ง หากยังไม่แล้วเสร็จสามารถขยายเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เดือน เพื่อมุ่งแก้ปัญหาของนกแอร์ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 เพราะตลอดระยะเวลา 1 ปีที่วุฒิภูมิ จุฬางกูร เข้ามาบริหารงานในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ได้ช่วยให้ธุรกิจกลับมามีผลการดำเนินงานดีขึ้นและขาดทุนสะสมลดลง

แต่พอเกิดวิกฤติโควิดจนเครื่องบินต้องจอดนิ่งหมด เกิดภาวะค่าเช่าเครื่องบินเดิน แต่รายได้ไม่เดิน โดยค่าเช่าเครื่องบินและค่าซ่อมบำรุงครองสัดส่วนใหญ่ที่สุด 40% ของต้นทุน ประกอบกับนกแอร์มีต้นทุนค่าเช่าเครื่องบินค่อนข้างสูงกว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมซึ่งเป็นจุดหลักที่นกแอร์เสียเปรียบ! ทางวุฒิภูมิเองได้ติดต่อขอเจรจากับผู้ให้เช่าเครื่องบินมาโดยตลอดก่อนเกิดวิกฤติโควิด

“ทำให้นกแอร์ตกอยู่ในสภาวะถอยก็ไม่ได้ เดินต่อไปก็ไม่ได้ ทางออกเดียวที่จะช่วยได้คือการอาศัยอำนาจศาลฯขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ”

และนับตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา และให้พักชำระหนี้อัตโนมัติ นกแอร์ได้ติดต่อขอเจรจากับผู้ให้เช่าเครื่องบินทันที บางรายรับทราบว่านกแอร์เช่าในราคาที่แพงมาก จึงเจรจากันใหม่ ทุกรายยอมปรับลดค่าเช่าและยืดหยุ่นให้ เช่น จากเดิมคิดค่าเช่ารายเดือน เปลี่ยนมาเป็นคิดรายชั่วโมงแทน

เรียกได้ว่าการเจรจากับผู้ให้เช่าเครื่องบินรายเก่าเป็นไปอย่างมีมิตรจิตมิตรใจต่อกัน โดยหลังจากนี้ต้องเจรจากับผู้ให้เช่าเครื่องบินทุกรายเพื่อแก้ไขสัญญาใหม่ ประกอบกับขณะนี้ตลาดเป็นของผู้เช่าเครื่องบิน หลังอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด มีหลายสายการบินเจ๊งมากมาย อย่างไรก็ดีนกแอร์ก็ต้องเลือกทางที่ดีที่สุดสำหรับนกแอร์ด้วย

“การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเป็นไปได้ด้วยดีกว่าที่เราคาด ตอนนี้นกแอร์มีโอกาส เหมือนได้ทำสายการบินใหม่ จะบินเส้นทางไหน จะใช้เครื่องบินแบบไหน จะขยายธุรกิจอย่างไร ก็เป็นโอกาสของนกแอร์ซึ่งขึ้นกับคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูที่กำลังศึกษากันอย่างเต็มที่ ทำการบ้านให้ถูกตามโจทย์”

เกษมสันต์ เล่าเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการฟื้นฟู นอกเหนือจากการแก้ไขข้อเสียเปรียบเรื่องต้นทุนค่าเช่าและค่าซ่อมบำรุงซึ่งจบไปแล้ว ก้าวต่อไปคือการวางแผนการบินเพื่อสร้างกำไรให้ดีที่สุด เลือกให้บริการเส้นทางที่เป็นประโยชน์ พร้อมมองการขยายเส้นทางบินข้ามภูมิภาคใหม่ๆ เช่น เล็งเพิ่มเส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน

นอกจากนี้นกแอร์ยังได้ศึกษาแผนการบินระหว่างประเทศในเส้นทางระยะไกลขึ้น สู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงภายในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และภายในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ ขณะเดียวต้องเร่งขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และผนึกพันธมิตรใหม่เพื่อเพิ่มคุณค่าแก่บริการ โดยที่ผ่านมาได้จับมือกับซี-เอ็ดให้ผู้โดยสารนกแอร์อ่านอี-บุ๊กได้ฟรี

ขณะที่การลดต้นทุน ต้องปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับฝูงบิน โดยเรื่องจำนวนพนักงานก็ต้องปรับให้เหมาะกับโครงสร้าง อาจจะต้องเพิ่มพนักงานมากขึ้นก็ได้ ทั้งนี้ยังต้องรอผลสรุปชัดอีกที โดยปัจจุบันนกแอร์มีพนักงาน 1,500 คน ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงจำนวนมากนักหลังเจอวิกฤติโควิด เพราะนกแอร์พยายามรักษาพนักงานเอาไว้ มากกว่า 50% เป็นพนักงานที่มีอายุงานเกิน 10 ปี โดยในช่วงวิกฤติโควิดบริษัทฯได้ขอความร่วมมือในการลดเงินเดือนและขอให้พนักงานลาหยุดแบบไม่ได้รับค่าจ้าง (Leave without Pay) เพื่อลดต้นทุน

“ทั้งนี้ขอยืนยันว่านกแอร์ไม่มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด ปัจจุบันมีกระแสเงินสดหลักพันล้านบาท” เกษมสันต์กล่าวปิดท้าย