‘จุดร่วม-ชุดความคิด’ แสงสว่างบนทาง ‘สมานฉันท์’

‘จุดร่วม-ชุดความคิด’  แสงสว่างบนทาง ‘สมานฉันท์’

ถนนการเมืองมุ่งตรงมาที่การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เพียงแค่เริ่มต้นก็ถูกขาประจำตั้งแง่ว่าล้มเหลวตามเคย แต่ครั้งนี้ตอนจบอาจจะไม่เหมือนเดิม เมื่อคนที่เข้ามาเป็นเจ้าภาพชื่อ 'ชวน หลีกภัย'

เค้าลางของ “โมเดลสมานฉันท์” ณ เวลานี้  อย่างที่รู้กันว่า มีอยู่2 ตัวเลือกหลักด้วยกัน อย่างแรก มาจากตัวแทน7ฝ่าย ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฎ์ รองนายกฯและรัรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอ และอีกตัวเลือกมาจาก “คนกลาง” ที่เสนอโดยฝ่ายต่างๆ ทั้ง2โมเดล ประธานรัฐสภา “ชวน หลีกภัย” บอกว่า “ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัว” 

เมื่อ “รูปแบบ” ไม่สำคัญเท่า “ตัวบุคคล”ที่จะมาทำหน้าที่เป็น “คณะกรรมการ” ทำให้ ณ เวลานี้จึงปรากฎภาพการเทียบเชิญบุคคลในแวดวงต่างๆ โดยเฉพาะอดีตนายกรัฐมนตรีที่ล่าสุด “ประธานชวน” บอกว่า ได้ต่อสายถึง “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, อานันท์ ปันยารชุน และอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ 3อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อเทียบเชิญมาร่วมถถกหาทางออกเป็นที่เรียบร้อย

นอกเหนือจาก3คน เมื่อไล่เช็คบัญชีรายชื่ออดีตนายกฯ ณ ปัจจุบันดูแล้ว ยังมีชื่อที่อยู่ในข่ายเป็น “อดีตประมุขฝ่ายบริหาร” ทั้ง “สมชาย วงสวัสดิ์” ซึ่งประธานชวนบอกว่า ได้พยายามต่อสายตรงเทียบเชิญมาร่วมทีม 

นอกจากนี้ยังมี  ธานินท์ กรัยวิเชียร ,พล.อ.สุจินดา คราประยูร,พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี , และ2พี่น้องตระกูลชินวัตร “ทักษิณ” และ “ยิ่งลักษณ์” ที่ ณ เวลานี้พำนักอยู่ต่างประเทศ

160442116856

ไม่ต่างไปจาก “10อดีตประธานรัฐสภา” ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ ณ เวลา อยู่ในลิสต์ที่ประธานชวนกำลังเทียบเชิญ หากไม่นับร่วม “พรเพชร วิชิตชลชัย” ซึ่งทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา อยู่ ณ ปัจจุบัน ยังมีอดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัตทั้ง มารุต บุนนาค,พิชัย รัตตกุล,อุกฤษ มงคลนาวิน, มีชัย ฤชุพันธุ์,อุทัย พิมพ์ใจชน,วันมูหะมัดนอร์ มะทา ,โภคิน พลกุล ,สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ ยงยุทธ ติยะไพรัช รวมอยู่ด้วย

ส่องรายชื่ออดีตประมุขทั้ง2ฝ่ายดูแล้ว แม้บางจะเคยผ่านการเมืองหรือช่วงรอยต่อในสภาวะวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็น “นายกฯอานันท์” นายกฯช่วงปี2547 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ภาคใต้ นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อแก้วิกฤติ

“อภิสิทธิ์” นายกฯในช่วงเหตุการณ์การเมืองปี53 ที่ตามมาด้วยการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน

160442123651

ทว่า จากบริบทการเมือง รวมถึงข้อเรียกร้องต่างๆที่เปลี่ยนไป นอกเหนือจาก “ตัวบุคคล” แล้ว โจทย์ใหญ่ที่คณะกรรมการชุดจะต้องเผชิญคือการต่อสู้กับ “ชุดความคิด”  ที่เวลานี้ไม่ได้มีแค่ชุดความคิดระหว่าง2ขั้ว แต่ยังหมายรวมไปถึงชุดความคิดที่แตกต่างภายในขั้วเดียวกัน

โดยเฉพาะฝั่ง “ม็อบ3นิ้ว” ที่แม้ในภาพใหญ่จะประกาศจุดยืนชัดเจนใน3ข้อเรียกร้อง ทั้ง การให้นายกฯลาออก,การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 

แต่หากไล่ลงลึกดูจริงๆ ม็อบกลุ่มนี้มีชุดความคิดที่แยกย่อยเป็น3กลุ่ม กลุ่มแรก เอาแค่แก้รัฐธรรมนูญ,ไล่นายกฯ  ซึ่งกลุ่มนี้พยายามส่งสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงแรกของการชุมนุมผ่านช่องทางในโลกโซเชียล ประมาณว่า "ถ้าแค่2อย่างขอเอาด้วย แต่ถ้าเป็นข้อ3ขอไม่ยุ่ง"

แต่ดูเหมือนว่ากระแส ณ เวลานั้นจะพุ่งเป้าการปรับยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหวด้วย "กลยุทธดาวกระจาย" ภายใต้3ข้อเรียกร้องสำคัญมากกว่า

กระทั่งล่าสุดของกลุ่ม All People EndGame นำโดย ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ ซึ่งแยกตัวมาจากม็อบคณะราษฎร ให้เหตุผลว่า การเสนอแก้รัฐธรรมนูญและนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ชั่วคราว เพราะเป็นการย่นระยะเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญการเรียกร้องให้ยุบสภาเพราะถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน  

ส่วนที่ไม่มีเรื่องสถาบัน เพราะหากจะปฏิรูปก็จะต้องเริ่มจากการแก้รัฐธรรมนูญ  ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ทะเลาะกันจนเกิดกำแพง ทำให้การเคลื่อนไหวไม่เห็นเค้าว่าจะชนะ

160442128026

ส่วนกลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่ยังคงยืนยัน3จุดยืนตามที่กล่าวมาข้างต้น ขณะที่ กลุ่มที่3 ค่อนข้างคล้ายกับกลุ่มที่สองคือยืนยันใน3ข้อเรียกร้อง แต่คนกลุ่มนี้จะมีความคิด-ความเชื่อ ที่อิงจากข้อมูลเพียงบางข้อมูล บุคคลบางบุคคล มีการแสดงออกในลักษณะ “ฮาร์ดคอร์” จนถูกมองว่าทำให้เส้นบางๆระหว่างคำว่า “ปฏิรูป” และ “ล้มล้าง” ถูกเหมารวมว่าเป็นเรื่องเดียวกัน

จากปัจจัยตามที่กล่าวมา ชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจาก “ตัวบุคคล” และ “รูปแบบ” ของคณะกรรมการที่เวลานี้ยังไม่มีสูตรที่ตายตัวแล้ว การเอาชนะกับ“ชุดความคิด” เพื่อหา “จุดร่วม”ที่ลงตัว ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะทำให้เส้นทางสมานฉันท์ในครั้งนี้ข้ามผ่านแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ไปได้