'ซีพีเอฟ' ลุ้นผลควบรวมเทสโก้ เพิ่มช่องทางค้าปลีกไทย-มาเลเซีย

'ซีพีเอฟ' ลุ้นผลควบรวมเทสโก้ เพิ่มช่องทางค้าปลีกไทย-มาเลเซีย

“ซีพีเอฟ” เตรียมแผนเจาะตลาดผ่านเทสโก้ไทย-มาเลเซีย “บล.เอเซียพลัส” ชี้ดันยอดขายซีพีเอฟเหมือนซื้อแม็คโคร ลดต้นทุนขนส่ง เพิ่มศักยภาพธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส ชงบอร์ดการแข่งขันฯ รับทราบคำวินิจฉัยซีพีควบรวมเทสโก้ก่อนเผยแพร่

การเข้าซื้อหุ้นของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ใน บริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และซื้อหุ้นบริษัท Tesco Stores (Malaysia) Sdn.Bhd. มูลค่า 338,445 ล้านบาท ทำให้ได้สิทธิบริหารธุรกิจค้าปลีกเครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในไทย ประกอบด้วยไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขาตลาดโลตัส 179 สาขา Tesco Express 1,574 สาขา และการให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา (ข้อมูลเดือน ส.ค.2562)

รวมทั้งได้สิทธิบริหารธุรกิจค้าปลีกในเครื่องหมายการค้า Tesco ในมาเลเซีย ประกอบด้วยไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขาซุปเปอร์มาร์เก็ต 13 สาขาร้านค้าขนาดเล็ก 9 สาขา และให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 56 สาขา (ข้อมูลเดือน ส.ค.2562)

การเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวนั้น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เข้าร่วมลงทุนสัดส่วน 20% โดยดำเนินการผ่านบริษัทซีพี เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด ที่เป็นบริษัทลูกของซีพีเอฟ ซึ่งจะทำให้ซีพีเอฟมีช่องทางในการทำการตลาดเพิ่มมากขึ้นในไทย รวมถึงมาเลเซียที่ซีพีเอฟมีธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจสัตว์เลี้ยงและแปรรูป (สุกร สัตว์น้ำ) และธุรกิจอาหาร ซึ่งเริ่มไปลงทุนตั้งแต่ปี 2522

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟได้เตรียมแผนธุรกิจในปี 2564 ที่มีการประเมินปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจหลายปัจจัย รวมถึงกรณีที่อาจได้รับการพิจารณาอนุมัติให้ซีพีซื้อหุ้นของ Tesco ในไทยและมาเลเซีย ซึ่งการเตรียมแผนธุรกิจดังกล่าวจะทำแผนการตลาดในช่องผ่าน Tesco ในไทยและมาเลเซีย

ทั้งนี้ การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ซีพีเอฟร่วมลงทุนกับบริษัทในเครือในสัดส่วน 20% แต่จะทำให้ซีพีเอฟได้ช่องทางจำหน่ายผ่าน Tesco ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ซีพีเอฟสามารถนำเสนอสินค้าได้ดีขึ้นและเพิ่มช่องทางให้ลูกค้ามากขึ้น

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาซีพีเอฟเข้าไปทำตลาดทั้งร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่นในไทย และห้างค้าปลีก Tesco ในไทยและมาเลเซีย แต่ในปี 2564 การเข้าซื้อกิจการอาจทำได้เพิ่มมากขึ้น และถ้าได้รับการพิจารณาอย่างเป็นทางการแล้วก็จะมีการทำแผนธุรกิจร่วมกันในกลุ่มซีพีเพิ่มขึ้น และสามารถเชื่อมโยงแผนการตลาดได้ทันที โดยเฉพาะการขายปลีกในตลาดมาเลเซียที่มีสาขาเทสโก้หลายสาขา

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ได้วิเคราะห์การเข้าซื้อหุ้นของกลุ่มซีพีครั้งนี้ โดยกรณีที่ซีพีได้รับอนุญาตให้เข้าซื้อหุ้น Tesco จะส่งผลบวกต่อซีพีเอฟในระยะยาว 2 ประเด็น คือ 

1.การเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าของซีพีเอฟทั้งอาหารสดและอาหารแช่แข็ง โดยปัจจุบันซีพีเอฟมียอดขายผ่าน Tesco ในไทยเพียงปีละ 700 ล้านบาท จึงศักยภาพการเติบโตสูงในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับการซื้อกิจการแม็คโครของบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2556 โดยขณะนั้นซีพีเอฟมียอดขายผ่านแม็คโครเพียงปีละ 500 ล้านบาท แต่ปัจจุบันซีพีเอฟเพิ่มยอดขายผ่านแม็คโครถึงกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท

2.การลดต้นทุน โดยเฉพาะด้านการขนส่ง

3.การพัฒนาด้าน Food service ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการบริหาร Food court ใน Tesco ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมมาลงทุนใน Tesco ของซีพีเอฟ ซึ่งฝ่ายวิจัยได้รวมการเข้าลงทุนในกิจการ Tesco ไว้ในประมาณการของซีพีเอฟแล้ว

ทั้งนี้ หากกลุ่มซีพีไม่สามารถเข้าซื้อกิจการ Tesco ในไทยและมาเลเซียได้ จะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2564-2565 เล็กน้อยเพียง 0.1% และ 0.3% ตามลำดับเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าซีพีเอฟจะไม่สามารถเพิ่มการทำงานร่วมกันจากการลงทุนใน Tesco ดังกล่าว แต่ซีพีเอฟจะไม่ต้องแบกรับต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการกู้มาลงทุน Tesco เช่นกัน

นอกจากนี้ บล.เอเซียพลัส ได้พิจารณาประเด็นซีพีออลล์ที่จะใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนในบริษัทย่อยจัดตั้งขึ้นใหม่ คือ บริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งมาจากการก่อหนี้เป็นหลักทำให้เชื่อว่าเป็นหนึ่งปัจจัยที่กดดันราคาหุ้นของซีพีออล์ในกรณีได้รับอนุมัติ คือ จากภาระดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นกดดันการเติบโตระยะสั้น–กลาง โดยฝ่ายวิจัยได้สะท้อนในประมาณการปัจจุบันนับจากไตรมาส 4 ปี 2563 แล้ว

ส่วนกรณีกลุ่มซีพีไม่ได้รับอนุญาตเข้าซื้อกิจการนั้น ในระยะสั้นประเมินว่าจะปลดล็อคความกังวลการก่อหนี้ระยะสั้น จะเป็นผลบวกต่อราคาหุ้นซีพีออล์ แต่อาจทำให้ภาพการเป็นผู้นำกลุ่มระยะยาวในอาเซียนโดดเด่นน้อยลง

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า สำนักงานฯ เตรียมส่งคำวินิจฉัยการพิจารณาควบรวมของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าให้กลุ่มซีพี ในขณะที่การซื้อหุ้นในมาเลเซียมีขั้นตอนการพิจารณาน้อยกว่าการซื้อหุ้นในไทยเพราะยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการควบรวมกิจการและมีรายงานว่าได้รับอนุญาตแล้ว

รวมทั้ง เดิมจะมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยในวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่สำนักงานฯ จะนำรายละเอียดคำวินิจฉัยให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ารับทราบก่อนเผยแพร่  ซึ่งปกติจะประชุมสัปดาห์ละครั้ง เพราะต้องการให้ถูกต้องชัดเจน รวมทั้งการควบรวมดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่และเป็นครั้งแรกที่ขออนุญาตควบรวมธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่

ทั้งนี้ แม้ไทยเคยควบรวมกิจการขนาดใหญ่กว่านี้ แต่เป็นการแจ้งเพื่อทราบและไม่ต้องขอนุญาต ซึ่งการควบรวมดังกล่าวเป็นธุรกิจยานยนต์ที่บริษัทแม่ในต่างประเทศควบรวมกิจการ ทำให้บริษัทลูกในไทยต้องรวมกิจการด้วยจึงไม่มีผลกระทบต่อตลาดและผู้บริโภคไทย