‘เอสซีจีพี’รุกเจาะตลาดยุโรป-สหรัฐ ต่อยอดการเติบโต-ลุ้นดันราคาหุ้น?

‘เอสซีจีพี’รุกเจาะตลาดยุโรป-สหรัฐ  ต่อยอดการเติบโต-ลุ้นดันราคาหุ้น?

ช่วงนี้หุ้นไอพีโอตบเท้าเข้าตลาดกันคึกคัก หลังอัดอั้นมาจากช่วงต้นปีที่โควิด-19 ระบาดหนัก แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มฟื้น เป็นจังหวะในการเข้าระดมทุน เพื่อเตรียมพร้อมรับโอกาสครั้งใหม่

โดยปัจจุบันมีหุ้นไอพีโอเข้าตลาดแล้วทั้งหมด 19 บริษัท มูลค่าระดมทุนรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็นมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโอ เกือบ 5 แสนล้านบาท โดยเข้ากระดานหลัก (SET Index) 8 บริษัท กับ 1 กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และตลาดเอ็ม เอ ไอ อีก 9 บริษัท

แต่ถ้าจะเลือกสุดยอดหุ้นไอพีโอแห่งปี คงต้องมอบตำแหน่งให้กับ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP บริษัทลูกของ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ที่แยกเอาธุรกิจแพคเกจจิ้งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น

แน่นอนด้วยชื่อชั้นของกลุ่มปูนใหญ่ และตัวธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่กำลังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้หุ้นไอพีโอของ SCGP ได้รับความสนใจอย่างมาก แม้จะเคาะราคาขายในกรอบสูงสุดที่ 35 บาท แต่นักลงทุนสถาบันใช้สิทธิจองซื้อเต็มโควต้า หรือ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของหุ้นไอพีโอทั้งหมด

โดย SCGP ถือฤกษ์ดีลงสนามวันแรก 22 ต.ค. 2563 สามารถยืนเหนือจองได้สำเร็จ เปิดเทรดที่ 37 บาท สูงกว่าราคาขาย 5.71% ระหว่างวันขึ้นไปทำราคาสูงสุดที่ 37.25 บาท ก่อนปิดซื้อขายวันแรกกลับมายืนเท่าราคาไอพีโอ 35 บาท

แม้ราคาหุ้นจะไม่ค่อยขยับ แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะเป็นธรรมเนียมของหุ้นใหญ่ที่เสนอขายด้วยราคาพรีเมียม ถือเป็นการลงทุนสำหรับอนาคต แต่เท่านี้ก็เพียงพอให้ SCGP ได้ “ฟาสต์แทร็ก” เข้าไปอยู่ในกระดาน SET50 ทันที ด้วยมาร์เก็ตแคปราว 1.5 แสนล้านบาท มากกว่า 1% ของมาร์เก็ตแคปรวมทั้งตลาด

หลังจากนั้นราคาหุ้น SCGP ดูไม่ไปไหน เคยหลุดต่ำจอง ทำจุดต่ำสุดที่ 32.75 บาท และปิดการซื้อขายล่าสุดวานนี้ (3 พ.ย.) ที่ราคาไอพีโอ 35 บาท เห็นราคาหุ้นวิ่งไม่ค่อยออกแบบนี้ แม้จะคาดการณ์กันไว้บ้างแล้ว แต่พอเกิดขึ้นจริง สร้างความผิดหวังไม่น้อย

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนักลงทุนรับรู้ข่าวของบริษัทไปหมดแล้ว ประกอบกับช่วงนี้บรรยากาศการลงทุนดูอึมครึม เต็มไปด้วยสารพัดปัจจัยถ่วง ทั้งประเด็นการเมือง ศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ ไหนจะมีการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศต้องกลับมาล็อกดาวน์ กดดันตลาดหุ้น

แต่ล่าสุด SCGP ปล่อยหมัดเด็ด! หลังประกาศเข้าซื้อกิจการบริษัท Go-Pak UK Limited (Go-Pak) หนึ่งในผู้นำในการให้บริการโซลูชั่นด้านบรรจุภัณฑ์อาหารในสหราชอาณาจักร ยุโรป และอเมริกาเหนือ ถือเป็น “การเสริมเขี้ยวเล็บ” ให้กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหารของ SCGP จากปัจจุบันบริษัทมีฐานการผลิตในมาเลเซียและไทย โดยลูกค้าหลักอยู่ในอาเซียนและญี่ปุ่น

การเข้าลงทุนใน Go-Pak เพื่อขยายตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าสำคัญของ Go-Pak มีทั้งกลุ่มร้านอาหาร เครือข่ายร้านฟาสต์ฟู้ด ร้านขายอาหารนำกลับ จนไปถึงผู้ให้บริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ ซึ่งการเติบโตไม่แพ้ตลาดอาเซียน

เนื่องจากอยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจที่สอดรับกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่ชอบเข้าร้านสะดวกซื้อ และนิยมสั่งอาหารผ่านบริการ “ฟู้ดดิลิเวอรี่” มากขึ้น ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ได้อานิสงส์ไปด้วย

ทั้งนี้ Go-Pak มีฐานการผลิตอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม มีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารราว 4 พันล้านชิ้นต่อปี โดยมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากกว่า 250 ประเภท ซึ่งผลประกอบการที่ผ่านมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด

โดยงวด 12 เดือนที่ผ่านมา (ไตรมาส 4 ปี 2562 – ไตรมาส 3 ปี 2563) มีรายได้ราว 2.8 พันล้านบาท ภายใต้สินทรัพย์รวมกว่า 1.65 พันล้านบาท เท่ากับว่าหลังซื้อกิจการ Go-Pak บริษัทจะมีรายได้ส่วนเพิ่มเข้ามาใกล้เคียงกับที่ Go-Pak ทำได้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา หรือ ราว 2.8 พันล้านบาทต่อปี

“การเข้าซื้อกิจการ” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สร้างการเติบโตของ SCGP อย่างที่ผู้บริหารเคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า กำลังคุยอยู่หลายดีลส่วนใหญ่เน้นตลาดอาเซียน แต่เมื่อเกิดดีลนี้ขึ้นก็เซอร์ไพร์สไม่น้อย เพราะยุโรปและอเมริกาเหนือถือเป็นตลาดที่ไม่ค่อยพูดถึงมาก่อน แต่แน่นอนว่ามีศักยภาพไม่แพ้อาเซียน ซึ่งคงต้องรอรู้ว่าการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะทำให้ SCGP เซ็กซี่ขึ้นมากน้อยแค่ไหนในสายตานักลงทุน?