ฝ่ายค้าน วาง 4 เงื่อนไขเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์

ฝ่ายค้าน วาง 4 เงื่อนไขเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์

ฝ่ายค้าน วาง 4 เงื่อนไขเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ เน้น "นายกฯต้องลาออกก่อน" เตือน อย่าเห็นแก่ตัวด้วยการยุบสภา ยิ่งซ้ำเติมปัญหา

 เมื่อเวลา 12.30 น.พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ประชุมร่วมกันเพื่อหารือถึงสถานการณ์ทางการเมือง นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ท่าทีของพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ของประธานรัฐสภานั้นเราคิดว่า 1.พรรคร่วมฝ่ายค้านมองร่วมกันว่าปัญหาของประเทศไทยเวลานี้เกิดจากตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นหลักและต้องการแค่สืบทอดอำนาจ หากตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตอนนี้ก็เปล่าประโยชน์ เราจึงยืนยันในจุดยืนเดิม คือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกจากตำแหน่งก่อน

2.เรามีบทเรียนว่าคณะกรรมการในสถานการณ์เช่นนี้ที่ผ่านมาเกิดขึ้นหลายครั้งแต่คณะกรรมการไม่มีอำนาจในตัวเองที่จะดำเนินการในเรื่องใดๆได้ เช่น การนิรโทษกรรมหรือการเยียวยา เป็นต้น จึงมีแต่เพียงข้อเสนอไปยังรัฐบาลเท่านั้น เราจึงอยากเห็นว่าคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นจะมีอำนาจหรือไม่อย่างไร

3.ก่อนการตั้งคณะกรรมการจะต้องมีการตีโจทย์ของประเทศ พรรคร่วมฝ่ายค้านอยากสอบถามและตรวจสอบก่อนว่าการตั้งคณะกรรมการชุดนี้อยู่บนโจทย์อะไร

4.สถานการณ์ของประเทศ ถ้าอยากจะคลี่คลายปัญหา สิ่งที่ดีที่สุด คือ ยุติการคุกคามประชาชนและเยาวชน เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย ตราบใดที่การคุกคามยังมีอยู่ โอกาสที่สถานการณ์จะได้รับการคลี่คลายไม่จะเป็นไปได้ 

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ในสถานการณ์เวลานี้ หากนายกฯตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรเท่ากับว่าไม่ได้มีการแก้ไขปัญหา เนื่องจากยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งกลับเข้ามาวุฒิสภาก็ยังเลือกเหมือนเดิม หากเป็นเช่นนี้เท่ากับว่านายกฯเห็นแก่ตัว 

นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอัยการสูงสุด และ ที่ปรึกษาคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวว่า วิธีปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมที่เข้ามาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการชุมนุมของเยาวชน เป็นที่รู้กันว่าล่าสุดมีคดีที่ต้องทำการอายัดตัวผู้ชุมนุมอีก 80 คดี ในความรู้สึกทั่วไปมันมากเกินไปเพราะเป็นเรื่องเดิมๆที่มาจากการชุมนุมของเยาวชนที่ต้องการให้เห็นการเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้อง การใช้กระบวนการยุติธรรมลักษณะนี้เป็นการคุกคาม ทั้งๆที่การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลและผู้มีอำนาจตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องเคารพ แต่การใช้อำนาจโดยไม่คำนึงสิทธิเสรีภาพเท่ากับไม่เป็นการอำนวยความยุติธรรม เป็นความผิดปกติในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีอาญา จึงกลายเป็นการคุกคามโดยไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง 

"หากจะมีการกำหนดเงื่อนไขให้เกิดการปรองดองขึ้นได้ นอกเหนือไปจากการเรียกร้องให้นายกฯลาออกไปก่อน คิดว่าเรื่องกระบวนการยุติธรรมก็เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่สำคัญเช่นกัน คือ ต้องเคารพกระบวนการยุติธรรมภายใต้หลักการของรัฐธรรมนูญ" นายพนัส กล่าว

เมื่อถามถึงข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐที่ให้ทำประชามติว่าควรให้มีการหยุดชุมนุมหรือไม่ พรรคร่วมฝ่ายค้านมีแนวทางกับข้อเสนอดังกล่าวอย่างไร พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวว่า การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญตราบเท่าที่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ  ดังนั้น การจะไปเสนอให้หยุดใช้รัฐธรรมนูญคงไม่ได้ สำหรับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคิดว่ารัฐสภาควรพิจารณาไปพร้อมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่เสนอโดยไอลอว์

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวในประเด็นข้อเสนอของนายไพบูลย์ว่า จะไปทำประชามติเพื่อระงับสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ และการชุมนุมไม่ได้เป็นอุปสรรคของบ้านเมือง แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่างหากที่เป็นอุปสรรคของบ้านเมือง ซึ่งไม่เคยพยายามสร้างความสมานฉันท์ให้กับประเทศ จึงนำมาสู่การชุมนุม ที่สำคัญยังมีอีกทางออก คือ การให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก 

"ถ้าท่านไม่เสียสละ ก็คงยากที่จะออกจากตำแหน่ง" นายรังสิมันต์ กล่าว

เมื่อถามว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีท่าทีอื่นนอกจากการไม่เข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่ ภายหลังนายกฯยืนยันว่าจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง  พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า นายกฯพยายามฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการสมานฉันท์ที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย มีแต่หน้าที่การศึกษาและรวบรวมความคิดเห็นก่อนเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี แต่วันนี้ศูนย์รวมปัญหาอยู่ที่ตัวนายกฯที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและรู้สึกว่าไม่มีอนาคต ในทางกลับกันโครงสร้างแบบนี้กลับสร้างความอ่อนแอให้กับประเทศแต่สร้างความเข้มแข็งให้กองทัพ ที่สุดแล้วการตั้งคณะกรรมการก็เป็นแค่การซื้อเวลาเท่านั้น ฝ่ายค้านยังไม่ได้ตัดสินว่าจะเข้าร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน มีแต่เพียงการที่ประธานสภามอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าไปศึกษาและกำหนดรูปแบบเท่านั้น  

"ประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวมนายกฯต้องคิดให้ดี แม้นายกฯคิดว่ายังมีประโยชน์ต่อส่วนร่วม แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับนายกฯจำนวนมาก" พ.ต.อ.ทวี กล่าว