ดร.การดี เลียวไพโรจน์ : จุดเปลี่ยนประเทศไทย เมื่อคนรุ่นใหม่ Voice Out

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ : จุดเปลี่ยนประเทศไทย เมื่อคนรุ่นใหม่ Voice Out

"เก็บคองอเข่า" ท่าปลอดภัยในการตั้งรับภาวะเศรษฐกิจตามคำแนะนำของ "ดร.การดี เลียวไพโรจน์" จากนั้นชวนฝันข้ามช็อต พลิกวิกฤติโควิด-19 ไปสู่ "เศรษฐกิจอวกาศ"

เมื่อประเทศเดินมาถึงจุดเปลี่ยน นอกจากจะต้องมีข้อมูลที่รอบด้าน การคาดการณ์ที่แม่นยำ ยังอาจจะต้องมีความหวังและความฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า...

จุดประกาย’ ชวนนักวิชาการสาวสวยมากความสามารถ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ที่พกตำแหน่งล่าสุด ‘หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab)’ หรือศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ภายใต้บริษัทแมกโนเลีย คอวลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) มาพูดคุยถึงฉากทัศน์ประเทศไทยหลังโควิด-19 และสิ่งที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปหลังจากนี้

160428581756

  • สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงบรรยากาศทางการเมืองปัจจุบันจะสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญให้ประเทศไทยอย่างไรบ้าง

มองเป็นสองประเด็นค่ะ ในเรื่องอัตราเร่งการเกิด Disruption Technology อย่างที่ทุกคนเห็น จากที่เคยมองว่าน่าจะ 2-5 ปี วันนี้กลับมาร่นระยะเหลือเพียง 2 เดือน หลายๆ การวิเคราะห์ในอดีต เช่น การเข้าถึงหุ่นยนต์บริการ หรือ Service Robot การเข้าถึงการทำงานที่เป็น Remote work เคยถูกคาดการณ์ว่าจะอยู่ใน Full Effect อย่างเต็มรูปแบบ น่าจะประมาณ 5-10 ปีข้างหน้า วันนี้เราเห็นการร่นระยะเวลา คนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตโดยสิ้นเชิง รวมทั้งการสื่อสารด้วย

ฉะนั้นถ้ามองในมิตินี้ เราจะมองถึงว่า ในองค์กรมีการปรับตัวอย่างไร วันนี้สิ่งที่เรามักพูดเสมอบนพื้นฐานการวิจัยว่าเราไม่ควรจะรอให้วันเก่าๆ กลับมาอีกแล้ว เพราะมันจะไม่กลับมา เราไม่ควรใช้คำว่านี่คือ New Normal แล้วหลังจาก New Normal เราก็กลับไปเป็นความปกติเดิม เพราะวันนี้มันเคลื่อนไปข้างหน้าแล้ว การจัดการระดับต่างๆ ในองค์กรต้องมีการปรับเปลี่ยน

เซคเตอร์ที่บอบบางและน่าเป็นห่วงมากตอนนี้ของประเทศไทย ก็คือกลุ่มของ SMEs ในขณะที่กลุ่ม Micro Entrepreneur หรือพูดง่ายๆ เป็นฟลีแลนซ์เซอร์ หรือ Gig Economy ยังพอที่จะไปได้ เพราะว่าสอดรับกับองค์กรขนาดใหญ่ ที่จะไม่เพิ่มในเรื่องจำนวนคน แต่ปรับไปสู่การ Out source มากขึ้น

แต่กลุ่ม SMEs ต่างหากที่เกิดความเปราะบางในตอนนี้ มี 2-3 ประเด็นทางเศรษฐกิจ ในเรื่องสภาพคล่องของเขาเอง ในเรื่องของอัตราหนี้ครัวเรือน ณ ตอนนี้ก็คือเกือบจะ 83 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งมองว่าหากเลวร้ายที่สุด ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 อาจจะหนักไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ตรงนี้ต้องจับตามองว่า SMEs จะปรับตัวกันอย่างไร

ประเด็นที่สอง ที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19 และ Disruption เรามองในแง่ของความพร้อมในการปรับเปลี่ยน Digital Transformation ซึ่งมีความพร้อมในระดับต่ำ แต่ไม่ได้ถือเป็นข่าวร้ายเสมอไป วันนี้อยากให้ปรับปรุงกระบวนการคิด หาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่ใช่การใช้ Digital Technology มาทำงานเดิมๆ ให้ง่ายขึ้น แบบนั้นคิดไม่ถูก แต่เราควรจะเอา Digital Technology มาสร้างงานใหม่และโอกาสใหม่ๆ ในอนาคตมากขึ้น

  • ท่ามกลางกระแสที่คนรุ่นใหม่กำลังส่งเสียงแสดงความต้องการของตนเองที่ชัดเจนมากขึ้น วิเคราะห์แนวโน้มทางสังคมและพฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปอย่างไร

ถ้าพูดถึงแนววิจัยของฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ไปปรับเปลี่ยนสู่กระบวนการออกแบบบริการ ตรงนี้เราเริ่มต้นแล้วทำไปแล้วอย่างจริงจังด้วย แต่ไม่ได้ทำวิจัยในลักษณะที่เป็นเปเปอร์ หรือ Survey เท่านั้น เราเข้าไป Design Thinking กับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เราเห็นชัดเลยค่ะว่า คนรุ่นใหม่มีสิทธิมีเสียงเป็นของตัวเอง แล้วเขาจะ Voice Out ทุกอย่างด้วย Media ที่อยู่ในมือ ฉะนั้นหากจะมองที่ Traditional Media อย่างเดียวอาจจะไม่ได้ถูกนัก ต้องมีการกระจาย

ประเด็นที่สอง กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือลูกค้ารุ่นใหม่ สิ่งหนึ่งที่คิดว่าเขาให้ความสำคัญมากคือ ความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นกับเจเนอเรชั่นของตัวเองในอนาคต 

เรามักจะได้ฟีดแบคเวลาทำเวิร์กชอปกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เขาจะ Compromise (ประนีประนอม) ความสะดวกสบายปัจจุบันกับอนาคต เพราะอนาคตไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพอากาศแปรปรวน โลกร้อน เขารู้ว่าชีวิตเขาจะลำบากขึ้น แล้วก็เลยให้น้ำหนักมากกว่ากับสิ่งที่ทำให้อนาคตยั่งยืน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สะดวกสบายที่สุดในบางเรื่องก็ตาม

160428750176

  • สถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เป็นผลพวงจากโควิด-19 ดูเหมือนประเทศจะอยู่ในจุดที่สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส หรือพลิกโอกาสเป็นวิกฤติก็ได้?

จริงๆ สถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสของไทยมากนะคะ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการวิเคราะห์ว่าเรามีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง การที่คนไทยเฝ้าระวังตัวเอง ถ้าเป็นอเมริกาคือเขาไม่สนว่ารัฐบาลจะประกาศอะไร แต่ของเรามีคนหมู่มากที่ให้ความร่วมมือ ฉะนั้นถ้าพูดถึงโควิด-19 เราควรปรับโอกาสนี้ให้เป็นจุดยืนใหม่ของประเทศไทย ให้เป็น Resilience Thailand คือประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นคน ระบบสาธารณสุข กับภาวะที่เป็น Pain Point ของโลก เราทำได้ดีกว่าใคร ซึ่งเราควรจะยอมรับและภูมิใจในเรื่องนี้

ขณะเดียวกันเรามีโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่รองรับได้ แต่เวลาพูดถึงสิ่งนี้ ถ้าเรามองว่า อ้าว...ตายแล้ว การท่องเที่ยวจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมในปีหน้า อยากให้มองใหม่ว่า มันจะไม่กลับมาเป็นแบบเดิมหรอก ต่อให้โควิด-19 หายไปพรุ่งนี้ ความต้องการของลูกค้าก็ไม่ได้กลับมาเหมือนเดิมเหมือนเมื่อปี 2019 หรือ 2018 แน่ๆ

เราควรลงทุนใน New Economy (เศรษฐกิจกระแสใหม่) เพิ่มเติมเสริมแกร่งเข้าไป เช่น การท่องเที่ยว เราควรจะมองในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเราเก่งมาตั้งนานแล้ว แต่ต้องยกระดับไปสู่สุขภาพที่มีมูลค่าสูง มูลค่าเพิ่ม สร้างซัพพลายเชนตรงนี้ให้มีความชัดเจนไปถึงกลุ่มคนที่ทำมาหากินในระดับ SMEs ให้ได้

หรือสอง คาดการณ์ความต้องการใหม่ ซึ่งต่อไปการใช้ Virtual Reality กับการท่องเที่ยวมันจะเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ ไม่ได้หมายความว่าคนจะไม่มานะคะ แต่เขาจะดื่มด่ำก่อนที่จะมา ฉะนั้นพอเข้ามาปุ๊บความเป็นไปได้ในการใช้เงินจะมีมากยิ่งขึ้น เราควรจะต้องไปหาทางเลือกใหม่ๆ ให้กับปัญหาเดิม

  • ในมุมของคนที่สนใจอนาคตศาสตร์ ฝันถึงอนาคตประเทศไทยแบบไหนคะ

วันนี้เรายังไม่ได้วิจัยของประเทศไทย เราทำซีเนริโอของ Mega City อย่างกรุงเทพฯ ฝันว่าเราจะสามารถมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากๆ ได้ มากกว่าเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน ส่วนตัวอาจจะไม่ได้อาจฝันใน End Game แต่อยากฝันในกระบวนการมากกว่า คิดว่าการตัดสินใจของเราปัจจุบันนี้มันส่งผลต่ออนาคต ฉะนั้นอยากให้มองในภาพของวิธีคิดเชิงอนาคต คือ Future Thinking ว่าถ้าเราทำแบบนี้ มันจะเกิดอนาคตอย่างไร

ปัจจุบันเราเห็น Extreme Scenario ของโลก คาดการณ์ไว้ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น คือ หนึ่งเรายังอยู่บนโลกแต่วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป คือต้องปรับเปลี่ยน จะอยู่บนน้ำ ใต้ดิน หรือลอยอยู่บนอากาศก็แล้วแต่ อีกอันหนึ่งเรามองว่ามันอาจจะอยู่ไม่ได้เลย เพราะว่าสถิติหลากหลายบนโลกกำลังจะบอกว่า ปี 2050 หลายพื้นที่บนโลกไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ก็ต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของเศรษฐกิจอวกาศ เป็นต้น

ถ้าถามว่าอยากให้ประเทศไทยเป็นแบบไหน ก็อยากให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากพอสำหรับอนาคต ซึ่งวันนี้เรากำลังแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน คือ Day to Day ในหลายๆ เรื่อง แต่ มันจะต้องมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง กลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งที่เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตให้จงได้

  • คิดว่าอะไรคือคุณสมบัติของประชากรที่จะทำให้การก้าวไปสู่อนาคตเป็นไปอย่างที่คาดหวัง

หนึ่งคือ Open Mind และ Live long Leaning ที่ตอบอันนี้เป็นอันแรกเลย เพราะว่าโจทย์ที่เกิดขึ้นในอนาคต มันไม่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาก่อน เราก็เห็นอยู่เรื่อยๆ

ตอนนี้กำลังอินมากๆ ในเรื่องของ Space Economy (เศรษฐกิจอวกาศ) หลายๆ อย่างที่มันเกิดขึ้นในนั้น ไม่เคยเกิดขึ้นบนโลกมาก่อน เพราะฉะนั้น การ Open Mind และพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ พร้อมที่จะเข้าสู่กฎเกณฑ์ใหม่ กับสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อันนี้สำคัญ

160428575724

  • มองไปที่อนาคตอันใกล้บ้าง หลายคนคงอยากทราบว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

ข่าวร้ายคือเศรษฐกิจปีนี้จะลำบากมากๆ แต่ข่าวดีก็คือเศรษฐกิจปีนี้จะดีกว่าปีหน้าอีก (หัวเราะ) คือปีหน้าจะแย่กว่านั่นเอง

สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของหลายๆ แห่ง ที่มองว่าไตรมาสแรกของปี 64 น่าจะต้องพยุงเศรษฐกิจ ถามว่าเราจะช่วยอะไรกันได้บ้าง คิดว่าอย่างน้อยการบริโภคในประเทศเป็นเรื่องที่อยากจะกระตุ้นให้ได้มากที่สุด ซึ่งพอไปดูข้อมูลก็ประหลาดใจ แต่เข้าใจ

จำนวนเงินในบัญชีของคนที่รายได้น้อยไม่ถึงล้านมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ คือ ไม่มีเงิน ในขณะที่ในบัญชีออมทรัพย์ของคนที่มีรายได้สูง เช่น 20 ล้านขึ้นไป มีมากขึ้นเรื่อยๆ ความหมายก็คือ ตอนนี้คนรายได้น้อยหรือตกงานต้องใช้เงินเก็บไปเรื่อยๆ ขณะที่คนยังไม่ตกงานก็ฟรีซ ไม่ยอมใช้เงิน เก็บเงินไว้ดีกว่า เพราะฉะนั้นการทำให้เกิดการสวิงของเศรษฐกิจลำบากมาก ซึ่งการใช้จ่ายภายในประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญ

  • คำแนะนำสำหรับการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นตามการคาดการณ์นี้?

เก็บคองอเข่า (หัวเราะ) แล้วเราจะอยู่กันไปอีกนาน การลงทุนจะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง ถ้าถามว่าอยากเห็นอะไรในเชิงนโยบายจากรัฐบาล ส่วนตัวอาจจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแจกเงินเท่าๆ กัน 3 พัน 5 พัน เราควรจะให้กับคนที่มีความจำเป็นจริงๆ

ตอนนี้น่าจะเป็นช่วงไพรม์ไทม์ที่สุด เหมาะที่สุดกับการรีสกิลและอัพสกิลของคนไทย ไม่ว่าจะตกงานหรือมีชั่วโมงการทำงานที่น้อยลง ดังนั้นการแจกคูปองควรแจกเพื่อไปเรียนรู้สิ่งใหม่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากกว่า แต่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมยังไม่มี เพราะหมดโควิดไปเราจะทำแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว

  • ทำงานมาค่อนข้างหลากหลายทั้งนักวิชาการ พิธีกร นักธุรกิจ ฯลฯ ยังมีอะไรที่อยากทำอีกบ้าง

สิ่งที่ทำมาตลอดคือเป็นนักวิจัยทางด้านยุทธศาสตร์ แล้ววันนี้มาในลักษณะของการเป็นยุทธศาสตร์ที่ไกลในเรื่องของระยะเวลามากกว่าเดิม เป็นสิ่งที่ชอบทำมาตั้งแต่เรียนจบแล้วทำแบบนี้มาตลอด แต่ตอนนี้สิ่งที่อยากทำแล้วกำลังเริ่มทำ คือเรื่อง Space Economy

เราอาจจะไม่ได้เป็น Space Scientists แต่สนใจในเรื่องนี้มาตลอด อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในฐานะคนที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องการเตรียมความพร้อม คือ Groom (เตรียมพร้อม) คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มองแค่วิถีปัจจุบันแล้ว แต่เป็น Alternative Living (ชีวิตทางเลือก)ในอนาคต