วิกฤติและโอกาส 'พนักงานธนาคาร' ยุคดิจิทัล

วิกฤติและโอกาส 'พนักงานธนาคาร' ยุคดิจิทัล

เมื่อเทคโนโลยีคืบคลานเข้ามาทุกภาคส่วนของธุรกิจ หนึ่งในบุคคลที่ได้รับผลกระทบไม่น้อย คือ พนักงานธนาคาร จากการที่ธนาคารเริ่มปรับลดสาขา เพิ่มเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการลูกค้า วิกฤติที่เกิดขึ้นนี้ จะเปลี่ยนเป็นโอกาสได้อย่างไรบ้าง?

Digital Disruption ที่กระทบธุรกิจและหลายๆ หน่วยงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ความตื่นเต้นน้อยลง แต่ผลกระทบมากขึ้น และขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ จนทำให้บางอุตสาหกรรมต้องออกมาเรียกร้องให้มีมาตรการหรือแผนคุ้มครองพนักงาน 

ขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นทั่วโลกและก็เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ พนักงานสถาบันการเงินที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการถูกเลิกจ้างงาน เพราะการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยี และธนาคารเองก็ได้เข้าสู่ระบบดิจิทัลแบงค์กิ้งเป็นที่เรียบร้อยแล้วเกิดการแทนที่แรงงานของมนุษย์อย่างเห็นได้ชัด 

เพียงแค่ปลายสัมผัสลูกค้าก็สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ ทำให้ธนาคารสามารถลดรายจ่ายได้ เช่น ขนาดของสาขา พัสดุเครื่องเขียนที่ต้องใช้ในการทำธุรกรรม เป็นต้น แต่ก็สามารถรักษาอัตรากำไรได้เหมือนเดิมหรือเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งลดลง คือ พนักงานหลังบ้าน พนักงานหน้าเคาเตอร์ พนักงานประจำสาขา หรือแม้แต่พนักงานประจำสำนักงานใหญ่ ก็มีแนวโน้มสูงที่จะถูกเลิกจ้าง

ในส่วนของประเทศไทยธนาคารได้ยุบหลายสาขา ลดจำนวนพนักงานลงอย่างแทบจะเรียกได้ว่าแบบกระทันหัน แม้แต่ธนาคารระดับใหญ่และมีสาขาอยู่ต่างประเทศ อย่างธนาคารกสิกรไทย ปิดประมาณ 850 สาขา ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ลดจำนวนสาขาจาก 1,153 เหลือ 400 สาขา และลดจำนวนพนักงานเหลือเพียง 15,000 คน จากเดิมที่มีอยู่ 27,000 คน และในปี 2563 ธนาคารของรัฐอย่าง ธนาคารกรุงไทยก็เตรียมลดจำนวนพนักงานลง 30 %จากจำนวนพนักงานประมาณ 21,000 คน และเตรียมยุบ 70 สาขา

เหตุผลหลักของการลดจำนวนสาขาและพนักงานธนาคารของประเทศไทย มาจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่มีผู้ใช้บริการออนไลน์หรือโมบายแบงค์กิ้งเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่ตัวเลขจะสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังเป็นแนวทางในปรับตัวการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของธนาคาร 

หากเปรียบเทียบวิกฤติของพนักงานธนาคารที่จะถูกเลิกจ้างกับพนักงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ หรือแม้แต่พนักงานสำนักงานทั่วไป ยังถือว่ามีโอกาสสูงในการได้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน 

พนักงานธนาคารมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัล ได้เรียนรู้ระบบดิจิทัลในระหว่างการทำงาน นั่นหมายความว่าพนักงานธนาคารได้เริ่มออกจากจุดปล่อยวิ่งไปเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่พนักงานบางอุตสาหกรรมยังคงอยู่ที่จุดเริ่มต้น อาจเพราะเนื้องานที่ปฏิบัติอยู่มีความเกี่ยวข้องกับระบบดิจิทัลน้อยมาก สามารถกล่าวได้ว่า พนักงานธนาคารถือว่ามีแต้มต่อดีกว่าบางกลุ่มแรงงานในการเปลี่ยนสายอาชีพหรือหางานใหม่ กรณีหากถูกเลิกจ้าง

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะทำให้มีอัตราการจ้างงานเกือบ 2 แสนอัตรา ตำแหน่งงานที่จะเกิดขึ้นใหม่ส่วนมากต้องการบุคลากรที่มีพื้นด้านดิจิทัล ซึ่งพนักงานธนาคารสามารถเปลี่ยนสาขาอาชีพอื่นได้ไม่ยาก เพราะมีพื้นฐานทักษะด้านดิจิทัลอยู่แล้ว

ทางออกของการลดจำนวนของพนักงานธนาคารที่มีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ ควรจะเปลี่ยนจากความกังวลหรือการต่อรองการลดชั่วโมงการทำงาน หรือหามาตรการมาเยียวยา เป็นการอบรมเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่

Bhang Chowdhy อาจาย์วิชาการเงิน แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส กล่าวกับรายการ บีบีซี ว่า ภาคธุรกิจสามารถให้พนักงานใช้เวลาประมาณ 60% ในการทำงาน และ 40% ในการฝึกอบรมทักษะใหม่ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์การลดจำนวนพนักงาน ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่พนักงานเพราะอุตสาหกรรมในอนาคตจะมีความเป็นดิจิทัลเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก