ป.ป.ช.คลอด8มาตรการ สกัด'สินบน-อาชญากรรมเศรษฐกิจ'

ป.ป.ช.คลอด8มาตรการ สกัด'สินบน-อาชญากรรมเศรษฐกิจ'

ป.ป.ช.คลอด8มาตรการ สกัดสินบน-อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ชี้รอบ2ปี ภาคธุรกิจพบมากสุด

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เปิดผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการทุจริตในประเทศไทย ประจำปี 2563 จัดทำโดยบริษัท ไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย (PwC Thailand) หรือ ‘PwC’s Thailand Economic Crime and Fraud Survey 2020 โดยสำรวจครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจในประเทศ พบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 33% ของบริษัทในไทยได้รับผลกระทบจากการทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ  โดยปัญหา “สินบนและการทุจริต” เป็นหนึ่งในอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ภาคธุรกิจต้องพบเจอมากที่สุด(31%)  รองลงมาจากการยักยอกทรัพย์ (47%) และการทุจริตผ่านการจัดซื้อจัดจ้าง (33%)

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบค่าดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) ในปี 2555-2556 ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่เจ้าพนักงานของรัฐและนักการเมืองที่ทุจริต เฉลี่ยอยู่ที่ 25-35% / ปี 2557 เฉลี่ยอยู่ที่ 5-15% / ปี 2558-2559 เฉลี่ยอยู่ที่ 1-15% และในปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 5-15% ทำให้เห็นได้ว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นในประเทศไทยมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณที่ดีในการร่วมมือกันช่วยลดปัญหาทุจริตและการติดสินบนของไทยให้มีปริมาณลดลงต่อไป

 นอกจากสถิติเหล่านี้ที่ชี้ให้เห็นปัญหาสินบนและการทุจริตในประเทศไทยแล้ว ยังมีสถิติอื่นๆ ที่สะท้อนปัญหาดังกล่าวในภาพรวมระดับโลก เช่น สถิติคดีสินบนของกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งพบว่าทุกประเทศและทุกระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจต่างเผชิญปัญหานี้เช่นเดียวกัน   

160422386532

ทั้งนี้เพื่อป้องกันการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ ตัวช่วยสำคัญสำหรับองค์กรเพื่อการควบคุมความเสี่ยง ด้วยเหตุนี้ ป.ป.ช. ได้พัฒนากฎหมายและมาตรการที่จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาสินบนอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561มาตรา 176 กำหนดความผิดการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศแม้ผู้ให้สินบนจะไม่ได้ให้แก่เจ้าพนักงานของรัฐโดยตรง เช่น การให้สินบนผ่านตัวกลาง อย่างคู่สมรส ญาติ หรือเพื่อน ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน โดยจะได้

รับโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้กำหนดหลักการป้องกันการให้สินบนขึ้นมาด้วยกันทั้งหมด 8 ข้อ เพื่อให้นิติบุคคลนำไปปรับใช้ ได้แก่1.การป้องกันการให้สินบนต้องเป็นนโยบายสำคัญจากระดับบริหารสูงสุด ผู้ที่อยู่ในระดับบริหารสูงสุดขององค์กรมีบทบาทสำคัญที่ในการริเริ่มมาตรการควบคุมภายในองค์กร สามารถสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กรให้ต่อต้านการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐได้ โดยอาจเป็นการปฏิบัติตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี หรือสร้างนโยบายในการต่อต้านสินบน

2.นิติบุคคลต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ นิติบุคคลมีโอกาสที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเจ้าพนักงานของรัฐมากน้อยแตกต่างกันออกไป ด้วย โครงสร้าง ประเภท และลักษณะการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันการประเมินความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ จะทำให้สามารถสร้างมาตรการควบคุมได้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจของตนเอง ซึ่งความเสี่ยงที่ว่านั้นหมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ลักษณะธุรกิจที่มีโอกาสติดต่อกับเจ้าพนักงานของรัฐ และความเสี่ยงจากปัจจัยภายใน เช่น การขาดการอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านการให้สินบน เป็นต้น

 3.มาตรการเกี่ยวกับกรณีมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการให้สินบนต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน การให้ของขวัญ เช่น เงิน สินค้า บริการ บัตรกำนัล หรือการเลี้ยงรับรอง เช่น ค่าที่พัก การศึกษา
ดูงาน ค่าอาหารเครื่องดื่ม และการบริจาค มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐนิติบุคคลจึงต้องมีขั้นตอนการพิจารณาในการขออนุมัติและตรวจสอบอย่างชัดเจน โดยต้องเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนาเป็นการใช้จ่ายเพื่อจูงใจเจ้าพนักงานของรัฐ ในส่วนมูลค่าควรสมเหตุสมผลและใช้เท่าที่จำเป็น และที่สำคัญช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น ไม่อยู่ในช่วงใกล้การเข้าร่วมแข่งขันประมูลโครงการของรัฐ เป็นต้น

160422083099

 4.นิติบุคคลต้องนำมาตรการป้องกันการให้สินบนไปปรับใช้กับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับนิติบุคคล บริษัทในเครือ หรือตัวแทนต่างๆ ถ้าเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจเหล่านี้ให้สินบนกับเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล นิติบุคคลอาจมีความผิดด้วย จึงควรมีการตรวจสอบสถานะ รวมทั้งอาจกำหนดเป็นข้อตกลงในสัญญาให้ปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรการเรื่องการต่อต้านสินบนด้วยเช่นกัน

5.นิติบุคคลต้องมีระบบบัญชีที่ดี มีการบันทึกข้อมูลอย่างถูกต้อง โปร่งใส และมีการตรวจสอบที่เป็นอิสระเพื่อป้องกันการปกปิดค่าใช้จ่ายที่ใช้เป็นสินบน

 6.นิติบุคคลต้องมีแนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคลที่สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการให้สินบน การบริหารทรัพยากรบุคคลที่ดีเป็นส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการให้สินบนภายในองค์กรได้ นับตั้งแต่การจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม และการจ่ายค่าตอบแทน
นิติบุคคลต้องมีการผลักดันบุคลากรภายในองค์กรให้มีความตระหนักและร่วมมือปฏิบัติตาม

7.นิติบุคคลต้องมีมาตรการในการสนับสนุนให้มีการรายงานการกระทำความผิด หรือกรณีมีเหตุน่าสงสัย จัดให้มีช่องทางการรายงานและให้ความคุ้มครองผู้ร้องเรียน สร้างความเชื่อมั่นให้มีการร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เช่น มีวิธีการรับเรื่องที่เข้าถึงง่าย ชัดเจน ปกปิดสถานะของผู้ร้องเรียนหากไม่ต้องการเปิดเผยตัวเอง ไปจนถึงสามารถติดตามผลการดำเนินการได้

 8.นิติบุคคลต้องตรวจสอบและประเมินผลการใช้มาตรการป้องกันการให้สินบนอย่างเป็นระยะ ความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ จึงต้องมีการทบทวนและประเมินผลมาตรการป้องกันการให้สินบนเป็นระยะเพื่อแก้ไขปรับปรุงมาตรการให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป