ส่อง 6 รูปแบบ ‘พินัยกรรม’ ที่ต้องทำก่อนตาย กรณีไหนบ้างที่กฎหมายไม่รับรอง

ส่อง 6 รูปแบบ ‘พินัยกรรม’ ที่ต้องทำก่อนตาย กรณีไหนบ้างที่กฎหมายไม่รับรอง

เปิด 6 วิธีการทำพินัยกรรมให้มีผลถูกต้องตามกฎหมาย อยากยก "มรดก" ให้ใครสามารถทำได้ง่ายๆ ทั้งแบบมีพยาน ไม่มีพยาน หรือจะทำที่บ้านก็ได้ พร้อมตรวจสอบ "เงื่อนไข" กรณีไหนบ้างที่ไม่สามารถทำในพินัยกรรมได้

เพราะชีวิตคนเราไม่แน่ไม่นอน การจัดการทรัพย์สินของเราโดยการทำ "พินัยกรรม" เสียให้เรียบร้อยก่อนที่เราจะจากโลกนี้ไป ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะเพื่อไม่ให้เป็นภาระ สร้างความยุ่งยากแก่คนข้างหลัง แถมยังลดข้อพิพาทหรือถกเถียงกันเรื่อง "มรดก" ในหมู่ลูกหลานได้ด้วย

โดยการทำพินัยกรรมให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำแล้วไม่เป็นโมฆะนั้นไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ขอนำข้อมูลจาก สำนักงานกิจการยุติธรรม เกี่ยวกับ “6 แบบพินัยกรรมที่ต้องทำก่อนตาย” ซึ่งเป็นวิธีการทำพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายมาฝากกัน

เราสามารถทำพินัยกรรมได้ทั้งหมด 6 แบบ ดังนี้

1) พินัยกรรมแบบธรรมดา

วิธีทำพินัยกรรมแบบนี้  "ผู้ทำพินัยกรรม" จะต้องทำเป็นหนังสือ ซึ่งจะเขียนหรือพิมพ์ข้อความพินัยกรรมลงบนกระดาษก็ได้ จำนวนกี่แผ่นก็ได้ ตามแต่รายละเอียดมากน้อยที่ต้องการแจกแจงลงไป และต้องลงวันเดือนปีที่ทำให้ชัดเจน

สำหรับวิธีนี้ ผู้ทำจะต้องลงลายมือชื่อต่อหน้า "พยาน" อย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน และพยาน 2 คนต้องลงลายมือชื่อรับรองการทำพินัยกรรมในขณะทำด้วย

 2) พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ

การทำพินัยกรรมวิธีนี้ อาจเรียกได้ว่า เรียบง่ายที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำเขียนขึ้นด้วยตัวเอง และไม่จำเป็นต้องมีพยานก็ได้

โดยวิธีการ คือ ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนพินัยกรรมด้วย "ลายมือตัวเอง" ทั้งฉบับ ลงวันเดือนปีที่ทำ และอย่าลืมลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมด้วย โดยกรณีการทำพินัยกรรมแบบนี้ จะมีพยานมารับรู้การทำพินัยกรรมหรือไม่มีก็ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :  ‘ภาษีมรดก’ ต้องศึกษา เงินที่ได้อาจกลายเป็นทุกข์

3) พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง

การทำพินัยกรรมด้วยวิธีนี้จะต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดย ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งความประสงค์โดยให้ถ้อยคำ หรือข้อความที่ต้องการใส่ในพินัยกรรมของตน แก่ เจ้าพนักงาน ที่สำนักงานเขต สำหรับกรุงเทพฯ​ หรือที่ว่าการอำเภอ สำหรับต่างจังหวัด พร้อม พยาน อย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน (จะทำนอกที่ว่าการอำเภอก็ได้ ถ้ามีการร้องขอ)

เจ้าพนักงานจะจดข้อความตามที่ได้รับแจ้ง และอ่านข้อความให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยาน 2 คนฟัง หากถูกต้อง ครบถ้วน ผู้ทำพินัยกรรมพร้อมพยาน 2 คนลงลายมือชื่อ

ต่อจากนั้น เจ้าพนักงานจะลงลายมือชื่อ วันเดือนปีที่ทำพินัยกรรม และจดข้อความว่าพินัยกรรมได้ทำขึ้นถูกต้อง พร้อมประทับตราตำแหน่งไว้ด้วย

4) พินัยกรรมแบบเอกสารลับ 

ผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรม (อาจเขียนหรือพิมพ์) แล้วลงลายมือชื่อตัวเอง และปิดผนึกพินัยกรรมพร้อมทั้งลงลายมือชื่อทับรอยผนึก 

จากนั้นให้นำพินัยกรรมที่ปิดผนึกและลงลายมือชื่อทับแล้ว ไปแสดงต่อเจ้าพนักงาน ณ สำนักงานเขต (กทม.) หรือที่ว่าการอำเภอ (ตจว.) พร้อมทั้งพยานอย่างน้อย 2 คน และแจ้งต่อบุคคลเหล่านี้ว่า พินัยกรรมนี้เป็นของตน 

เจ้าหน้าที่จะจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมไว้บนซอง และประทับตราตำแหน่ง โดยผู้ทำพินัยกรรม, พยาน และเจ้าหน้าที่ต้องลงลายมือชื่อไว้หน้าซองตรงที่ปิดผนึก

5) พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา 

การทำพินัยกรรมในกรณีนี้ เกิดขึ้นเมื่อผู้ต้องการทำพินัยกรรมอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดได้ เช่น อยู่ในที่อันตราย ฯลฯ ก็สามารถทำพินัยกรรมแบบทำด้วยวาจาได้ โดยผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนาทำพินัยกรรมต่อหน้า "พยาน" ที่อยู่ตรงหน้าอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน 

พยานต้องรับฟังข้อความนั้น แล้วรีบไปแจ้งต่อราชการโดยเร็วที่สุด คือ ไปสำนักงานเขต สำหรับ กทม. หรือที่ว่าการอำเภอ สำหรับต่างจังหวัด โดยให้แจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมสั่งไว้ด้วยวาจา พร้อมทั้งแจ้งวัน เดือน ปี และสถานที่ทำพินัยกรรม รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

เจ้าหน้าที่จดข้อความที่ได้รับแจ้ง พร้อมทั้งให้พยานที่มาแจ้งลงลายมือชื่อ (ในกรณีไม่อาจลงลายมือชื่อก็ให้พิมพ์ลายนิ้วมือและให้พยานที่หามาใหม่อย่างน้อย 2 คน ลงลายมือชื่อรับรอง)

 

6) พินัยกรรมแบบทำตามกฎหมายต่างประเทศ กรณีคนไทยที่อยู่ต่างประเทศต้องการทำพินัยกรรม มีสิทธิเลือกทำตามแบบของกฎหมายประเทศที่ตนอยู่ทำพินัยกรรมก็ได้ หรือจะทำแบบของกฎหมายไทยก็ได้

หากทำตามแบบกฎหมายไทย ในกรณีต้องการทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง พินัยกรรมแบบเอกสารลับ และพินัยกรรมแบบวาจา ซึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานร่วมด้วยนั้น อำนาจและหน้าที่ของนายอำเภอจะตกแก่พนักงานทูตหรือฝ่ายกงสุลฝ่ายไทย หรือให้พนักงานใดๆ ที่มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศนั้น เป็นผู้รับบันทึกข้อแจ้งความไว้เป็นหลักฐานก็ได้  

  • ข้อควรระวังในการทำพินัยกรรม

ทั้งนี้ การทำพินัยกรรมให้เสร็จสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะในภายหลัง ยังมี ข้อควรระวังในการทำพินัยกรรม ดังนี้

  1. พินัยกรรมเป็นนิติกรรมที่ต้องทำตามแบบที่กำหนดเท่านั้น 
  2. ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 
  3. ผู้รับพินัยกรรม หรือคู่สมรสของผู้รับพินัยกรรม ไม่สามารถเป็นพยานในการทำพินัยกรรมได้
  4. ผู้ที่เป็นพยาน จะต้องไม่เป็นผู้เยาว์ หรือ ผู้หย่อนความสามารถ และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในมรดก 
  5. ควรจะตั้งผู้จัดการมรดกโดยสามารถระบุผู้ที่เจ้ามรดกไว้ใจ ลงในพินัยกรรมไปได้เลย 
  6. สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ก็สามารถกำหนดในพินัยกรรมได้ 
  7. ทรัพย์สินที่ระบุในพินัยกรรมต้องเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น ทั้งต้องแยกสินส่วนตัวออกจากสินสมรสด้วย 
  8. เงินประกันชีวิต เงินบำเหน็จตกทอด เงินมีบำนาญตกทอด เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ตกทอด ไม่เป็นมรดกที่ระบุในพินัยกรรมได้ เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อนตาย

ที่มา : สำนักงานกิจการยุติธรรม