ยาจาก 'เลือดมังกรโคโมโด' ประยุกต์เพื่อใช้ฆ่า'เชื้อดื้อยา'

ยาจาก 'เลือดมังกรโคโมโด' ประยุกต์เพื่อใช้ฆ่า'เชื้อดื้อยา'

งานวิจัยอีกเรื่อง โดยการนำเลือด"มังกรโคโมโด" หรือกิ้งก่าขนาดใหญ่ (คล้ายๆ ตัว"เหี้ย" ) บนเกาะในอินโดนีเซียมาทดลอง เพราะในเลือดของมัน มีสารเพปไทด์จำพวกประจุบวกที่ต้านจุลินทรีย์ ทำเป็นยาปฏิชีวนะ ฆ่า"เชื้อดื้อยา"

ปัญหาสุดยอดเชื้อดื้อยา (superbug) เป็นหนึ่งในปัญาใหญ่ทางการแพทย์ตอนนี้เลยนะครับ ไม่แน่ว่าอาวุธลับล่าสุดที่จะนำมาใช้กำราบพวกมัน อาจจะเป็น “เลือดมังกร” ครับ

คณะนักวิจัยจากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ (College of Science) มหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน (George Mason University) นำโดย บาร์นี บิชอป (Barney Bishop) โมนิค ฟาน โฮก (Monique van Hoek) พบว่า ภายในเลือดของมังกรโลกตัวจริงเสียงจริงคือ ตัวโคโมโด (Komodo) นั้น มีสารหลายชนิดที่อาจนำมาใช้ปราบเชื้อดื้อยาเหล่านี้ได้

พวกเขาตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Journal of Proteome Research (DOI: 10.1021/acs.jproteome.6b00857)

มังกรโคโมโด (Varanus komodoensis) นี่เป็นญาติกับ “ตัวเงินตัวทอง” หรือเรียกชื่อเดิมสั้นๆ ว่า “เหี้ย” ของไทยนะครับ สังเกตดูได้จากนามสกุล Varanus เหมือนกัน แต่พวกมันเป็นรุ่นเฮฟวี่เวตครับ ถือเป็นกิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยพบได้บนเกาะเล็กๆ 5 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย

span class=“BOLD”> ในน้ำลายของมังกรพวกนี้มีแบคทีเรียอาศัยอยู่มากมายถึง 57 ชนิดด้วยกัน แต่พวกมันเองกลับสุขสบายไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย แสดงว่าต้องมีดีอะไรอยู่แน่

นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่า ในเลือดของพวกมันจะต้องมีสารที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคดีมากๆ และสารดังกล่าวจากเลือดมังกรก็อาจจะนำมาประยุกต์ใช้ฆ่าเชื้อดื้อยาที่กำลังเป็นภัยคุกคามใหม่ในมนุษย์ได้ด้วย 

แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ก็เลยทดสอบดูครับ

นักวิจัยศึกษาพบว่าในเลือดของโคโมโดมีสารกลุ่มที่เรียกว่า แคมป์ส (CAMPs) หรือชื่อเต็มๆ ว่า cationic antimicrobial peptides แปลเป็นไทยได้ว่า “เพปไทด์จำพวกประจุบวกที่ต้านจุลินทรีย์ได้”

อ่านจบปุ๊บก็คิดว่า คงต้องมีคนงง และคงต้องอธิบายเพิ่ม

คำว่า “เพปไทด์” ก็คือ ส่วนหนี่งของโปรตีนที่เป็นสายสั้นๆ ของกรดอะมิโนมาต่อกัน กรดอะมิโนนี่เป็นหน่วยพื้นฐานของโปรตีนทุกชนิดในโลกนี้ ไม่มีข้อยกเว้น ในกรณีนี้เพปไทด์พวกนี้มีประจุไฟฟ้าในตัวเฉลี่ยแล้วเป็นบวก

สารแคมป์สนี่ไม่ได้จำกัดว่า เจอแต่ในมังกรยักษ์เท่านั้น ความจริงเจอในสิ่งมีชีวิตต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งก็รวมทั้งในมนุษย์ด้วย แต่ที่พิเศษกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ก็คือ มังกรพวกนี้มีสารแคมป์สเยอะมากคือ มากถึง 48 ชนิด ทั้งหมดนี้ใหม่เอี่ยมไม่เคยพบมาก่อนในสิ่งมีชีวิตใดเลย

span class=“BOLD”> พิเศษยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ในจำนวน 48 ชนิดที่พบแล้วนั้น มีมากถึง 47 ชนิดที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้

คณะนักวิจัยสกัดสารพวกนี้ด้วยวิธีพิเศษมากคือ ใช้ “ไฮโดรเจล” ที่มีประจุเป็นลบ (จึงจับกับสารแคมป์สที่มีประจุบวกได้) เมื่อผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไป ก็จะดึงเอาสารแคมป์สที่มีประจุบวกออกจากเลือดมังกรได้

ก่อนหน้านี้พวกเขาก็ใช้เทคนิคแบบนี้ในการสกัดสารแคมป์สจากตัวแอลลิเกเตอร์ (alligator) หรือ “จระเข้ตีนเป็ด” มาแล้ว

หลังจากเห็นฤทธิ์เดชของสารพวกนี้แล้ว นักวิจัยก็หาวิธีทางเคมีสังเคราะห์พวกมันขึ้นมา ซึ่งก็โชคดีที่พวกมันมีขนาดเล็ก ในเบื้องต้นสามารถสังเคราะห์แคมป์สในกลุ่มนี้ขึ้นมาได้ 8 ชนิด จากนั้นก็เอาไปโยนใส่เชื้อโคตรดื้อยา 2 ชนิดที่ดูแลไว้อย่างดีในห้องปฏิบัติการคือ Staphylococcus aureus และ Pseudomonas aeruginosa

span class=“BOLD”> ผลก็คือสารแคมป์สสังเคราะห์ทั้ง 8 ชนิด ฆ่าเชื้อ P. aeruginosa ได้ ขณะที่ 7 ชนิดฆ่าเชื้อได้ทั้ง 2 ชนิด ซี่งเชื้อที่ว่าทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นสายพันธุ์ที่ไม่สามารถฆ่าได้ด้วยยาปฏิชีวนะที่เรากันใช้กันอยู่ตอนนี้ !

 นักวิจัยชี้ว่า นี่อาจจะเป็นเหตุผลเบื้องหลังอันตรายจากน้ำลายของมังกรพวกนี้ เพราะสารแคมป์สพวกนี้เองที่ทำให้บรรดามังกรทนต่อเชื้อแบคทีเรียหลากหลายสายพันธุ์ในปากของพวกมันได้หากติดเข้าไปในกระแสเลือด แต่ตรงกันข้ามหากมันไปกัดสิ่งมีชีวิตใดเข้า ก็มีโอกาสจะติดเชื้อตายสูงมาก

อย่างไรก็ตาม กลไกการทำงานของสารเคมีนี้ในการป้องกันการติดเชื้อของตัวมันเอง ยังไม่ชัดเจนนักว่าเป็นอย่างไรกันแน่ จะว่าไปแล้วก็เพราะความทนทานต่อเชื้อต่างๆ ของมันนี่เองแหละครับ ที่ทำให้นักวิจัยสนใจศึกษาเลือดของมันแต่แรก

อ้อ ที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ เพปไทด์แคมป์สที่พบนี้แทบทุกตัว (มียกเว้นชนิดเดียว) มีโครงสร้างคล้ายๆ กับโปรตีนชนิด ฮีสโทน (histone) ซึ่งพบในสิ่งมีชีวิตชั้นสูงจำนวนมาก รวมทั้งมนุษย์เช่นกัน

โปรตีนฮีสโทนนี้มีประจุเป็นพวกและทำหน้าที่คอยจับกับดีเอ็นเอ ซึ่งตามธรรมชาติมีประจุเป็นลบ ทำให้สามารถม้วนพับตัวแพ็กให้มีขนาดเล็ก กินพื้นที่น้อยๆ ได้ ถ้าไม่มีฮีสโทนมาช่วย ดีเอ็นเอจะผลักดันเองจนไม่สามารถคงรูปร่างเป็นระเบียบในพื้นที่จำกัดได้

นอกจากเอาโปรตีนในเลือดมาฆ่าเชื้อโรคโดยตรงแล้ว ยังพบอีกด้วยว่า ซีรัม (serum) หรือส่วนน้ำเหลืองของเลือดของมันฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในหลอดทดลองได้เช่นกัน ยืนยันว่าสารแคมป์สพวกนี้ น่าจะเป็นกลไกสำคัญในภูมิคุ้มกันของสัตว์ร้ายนี้

และทำให้เรามีโอกาสที่จะนำเอา “โอสถโลหิตมังกร” นี้ มาใช้เป็นยาปฏิชีวนะที่เชื้อโรคไม่อาจต้านทานได้ง่ายๆ แบบเดิม