เช็คลิสต์ นศ.ธรรมศาสตร์ ปรากฏการณ์(ไม่)รับปริญญา

เช็คลิสต์ นศ.ธรรมศาสตร์  ปรากฏการณ์(ไม่)รับปริญญา

กลายเป็นปรากฎการณ์ทางสังคม ที่ถูกจับจ้องไม่น้อย กับการที่ "บัณฑิตธรรมศาสตร์" ไม่เข้ารับปริญญาบัตร แม้ในทุกปีจะมีผู้ที่ไม่เข้ารับเป็นปกติ แต่ปีนี้ดูจะมีหลายเรื่องที่ถูกผูกโยงเข้ามา แต่ถึงอย่างไร ทุกคนล้วนมีเหตุผลเป็นของตัวเองทั้งสิ้น

เพจบัณฑิตธรรมศาสตร์ของราษฎรซึ่งถูกตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษาที่สนับสนุนการไม่เข้ารับปริญญาบัตร กระจายข่าว ขอให้จับตาบิ๊กเซอร์ไพรส์ในวันที่ 31 ..2563 นี้ ในเวลา 17:00 กลายเป็นหัวข้อที่ทำให้สังคมต่างจับจ้องถึง พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีขึ้นตั้งแต่เมื่อวาน 30 .. และนัดหมายในเย็นวันนี้ 31 ..2563

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่มีนัย เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองและการเมือง อยู่ท่ามกลางการชุมนุมเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อบัณฑิตจำนวนหนึ่งพร้อมใจกันไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้

กรุงเทพธุรกิจได้พูดคุยกับบัณฑิตทั้งสองส่วน ซึ่งจำนวนหนึ่งที่ถึงแม้ไม่เข้าร่วมพิธี แต่ก็ได้มารวมตัวถ่ายรูปพร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่น พวกเขาและเธอ มีเหตุผล ความเห็น จุดยืน แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

+ ไม่รับปริญญา อย่าเป็นข้ออ้างจับผิด + 

บัณฑิตหนุ่มจาก "คณะนิติศาสตร์" รายนี้เล่าถึงสาเหตุที่ไม่ได้ร่วมพิธีรับปริญญาว่า เพราะไม่สามารถเข้าร่วมซ้อม ทั้งซ้อมย่อย ซ้อมใหญ่ เนื่องจากติดภารกิจการทำงาน ที่ต้องไปต่างจังหวัดตามนัดหมายล่วงหน้า แต่เขาก็นัดหมายกับเพื่อนๆ ร่วมรุ่น เพื่อถ่ายรูปในชุดครุยด้วยกัน อีกเหตุผล ก็เพราะเป็นปริญญาบัตรใบที่สามแล้ว จึงตื่นเต้นน้อยลง อีกทั้งการเข้ารับปริญญาบัตร ก็ยังมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่าชุดครุย ค่าเครื่องแต่งกาย ถ้าเป็นผู้หญิง ก็จะมีค่าแต่งหน้า หรือหากบัณฑิตที่มาจากต่างจังหวัดก็ต้องมีค่าที่พัก

ส่วนกรณีมีกลุ่มที่รณรงค์ไม่รับปริญญา เขามองว่า เป็นสิทธิของบัณฑิตที่จะเข้ารับหรือไม่เพราะแต่ละคนก็มีเหตุผลแตกต่างกัน "การไม่เข้าร่วมรับปริญญาของแต่ละคนย่อมมีเหตุผลแตกต่างกัน โดยอาจจะไม่ได้มีเหตุผลในทางการเมืองเท่านั้น แต่อาจมีผลอื่นๆในทางส่วนตัวด้วย การที่บุคคลใดไม่ได้รับปริญญา ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นจะมีความคิดเป็นปฏิปักษ์และเจตนาจะท้าทายกฎหมาย หรือสร้างความปั่นป่วนแต่อย่างใด ที่สำคัญอยากให้มองว่า การไม่เข้ารับปริญญาเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างเพื่อจับผิดในทางการเมืองหรือเอาผิดตามกฎหมาย

ส่วนการชุมนุม เขามองว่า เป็นสิทธิ์ที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองไว้ จากที่ติดตามข่าวสารของการนำชุมนุมของกลุ่มธรรมศาสตร์ฯ ที่ผ่านมา ก็เป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่เป็นห่วงและกังวล คือ ความคิดของคนในสังคมที่ไม่ควรมองฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเราเป็นศัตรูแต่อยากให้ค่อยๆ เรียนรู้ถึงข้อเรียกร้องซึ่งกันและกัน จะทำอย่างไรที่สามารถมีทางออกร่วมกันได้ จะต้องไม่มีใครชนะหรือใครแพ้ และอยากฝากถึงรัฐบาล ควรใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม และจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม

"การประกาศของนายกรัฐมนตรี ว่าจะถอยคนละก้าวนั้น ควรทำให้เห็นเป็นรูปธรรม การแก้ไขกฎกติกาของบ้านเมือง คือรัฐธรรมนูญ ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างจริงใจ เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ สุดท้าย คนทุกคนในสังคมต่างก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะร่วมกันสร้างสังคมให้น่าอยู่และเดินไปข้างร่วมกันได้เราควรหยิบส่วนที่ดีของคนแต่ละรุ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หยิบเอาความคิด วิธีการของคนรุ่นใหม่ หยิบเอาประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า มาบูรณาการเข้าด้วยกัน เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสังคมไทยวันนี้จะมีทางออกที่ดีแน่นอน"

+ พิธีการที่เพิ่มตรวจเลือดเช็คโควิด +

ขณะที่บัณฑิตหนุ่ม จากคณะนิติศาสตร์ ที่ตัดสินใจไม่รับปริญญา บอกถึงเหตุผลของเขาว่าเนื่องจากมีพิธีการเป็นจำนวนมาก ต้องซ้อมหลายรอบจึงไม่สะดวกเรื่องของเวลา นอกจากนั้นบัณฑิตทุกคนที่เข้ารับครั้งนี้ ต้องตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยวิธีการเจาะเลือดอีกด้วย และถึงแม้ตัวเองจะสนใจเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้ และมีโอกาสไปร่วมชุมนุมมาบ้างแต่ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่ไม่เข้ารับปริญญาหรือเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แต่อย่างใด

บัณฑิตหญิง จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ไม่รับปริญญาครั้งนี้เช่นกัน เนื่องจากการทำงานอยู่ต่างประเทศ จึงพลาดการเข้าร่วมซ้อมพิธี อีกทั้งก่อนหน้านี้ อยู่ในช่วงโควิด ทำให้การเดินทางกลับมายากลำบาก จึงไม่ได้มีเหตุผลอื่น

+นัยแบ่งแยก เห็นด้วยบางข้อ +

บัณฑิตชาย อีกรายที่ติดภารกิจในการทำงาน จนไม่สามารถลางานมาซ้อมรับปริญญาได้ทั้งซ้อมย่อย ซ้อมใหญ่ จึงต้องพลาดการรับปริญญาไปโดยปริยาย ได้ยืนยันว่า การไม่เข้าร่วมพิธี ไม่ได้มีเหตุผลทางการเมือง และตัวเองก็ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องให้บัณฑิตปฏิเสธการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ที่เหมือนกับเป็นการแบ่งแยกประชาชน ว่าใครที่เข้ารับปริญญาย่อมแสดงว่าเป็นคนที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างกับฝ่ายที่ไม่ต้องให้บัณฑิตเข้ารับปริญญา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

"การชุมนุมที่มีบางกลุ่มนำชื่อของมหาวิทยาลัยไปเคลื่อนไหว เห็นว่าไม่เหมาะสมมหาวิทยาลัยไม่เคยมีท่าทีต่อจุดยืนทางการเมืองอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างเป็นทางการ อีกทั้งการอ้างชื่อธรรมศาสตร์ เสมือนหนึ่งบอกว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะบางคนอาจเห็นด้วยบางข้อ และไม่เห็นด้วยบางข้อ จึงอยากให้การใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง ต้องเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างด้วย"

+ เห็นต่างระหว่างในครอบครัว +

บัณทิตหญิง จากคณะสหเวชศาสตร์ ที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ต้องทำตามความต้องการของครอบครัว "ก่อนหน้าที่จะตัดสินใจเช่นนี้ ก็เถียงกับพ่อแม่อย่างหนัก จนสุดท้ายเราเองต้องยอม ก็เข้าใจว่าพ่อและแม่และครอบครัวซึ่งเป็นข้าราชการ ว่าการให้เราเข้ารับพระราชทานปริญญาเป็นสิ่งที่เขารอคอย เป็นครั้งหนึ่งในชีวิต"

ขณะที่เธอยอมรับว่า "ได้พูดคุยกับเพื่อนบางคน ที่ไม่เข้ารับปริญญาบัตร ก็เข้าใจ และรู้อยู่แล้วว่า เหตุผลคืออะไร"

+ อยากเจอเพื่อนและความยินดี +

บัณฑิตหญิงจาก คณะสหเวชศาสตร์ อีกคนให้เหตุผลว่า เธออยากมาเจอเพื่อน และอยากให้ญาติพี่น้องมาร่วมแสดงความยินดี มาถ่ายรูปกัน แม้เพื่อนบางคนที่ไม่เข้ารับด้วยนั้น ก็ทราบว่าทางบ้านของเขาไม่ได้ซีเรียส และบางคนก็ติดภารกิจ

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศความยินดี และความดีใจของบัณทิตแต่ละคน ก็คงสะท้อนได้จากบัณฑิตหญิงจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ผู้นี้ว่า การสำเร็จการศึกษา เป็นครั้งหนึ่งในชีวิต ที่อยากมีช่วงเวลาที่ได้รำลึกถึงความสุขกับครอบครัว และมีรูปในพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรสักครั้งในชีวิต