‘ดาวโจนส์’ร่วง 157 จุดหลากปัจจัยลบรุมถล่มตลาด

‘ดาวโจนส์’ร่วง 157 จุดหลากปัจจัยลบรุมถล่มตลาด

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันศุกร์ (30 ต.ค.)ร่วงลง 157 จุด ขณะที่นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งสหรัฐในสัปดาห์หน้า และความล่าช้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ร่วงลง 157.51 จุด หรือ 0.59% ปิดที่ 26,501.6 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวลง 40.15 จุด หรือ 1.21% ปิดที่ 3,269.96 จุดและดัชนีแนสแด็กปรับตัวลง 274.00 จุด หรือ 2.45% ปิดที่ 10,911.59 จุด

ดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาด พุ่งขึ้นแตะระดับ 41.2 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 7% ในสัปดาห์นี้ และมีแนวโน้มทำสถิติทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.

นอกจากนี้ ดัชนีดาวโจนส์ยังมีแนวโน้มปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยร่วงลงกว่า 4% ในเดือนต.ค.

หุ้นในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีต่างดิ่งลงในวันนี้ ท่ามกลางความผิดหวังต่อการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทแอ๊ปเปิ้ล อิงค์, เฟซบุ๊ค อิงค์ และอเมอซอน

ด้านนายมิทช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ ประกาศเลื่อนการเปิดประชุมวุฒิสภาเป็นวันที่ 9 พ.ย. ซึ่งทำให้พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย.

นอกจากนี้ ตลาดยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังพบว่าตัวเลขเฉลี่ย 7 วันของผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในสหรัฐพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์นี้

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.0% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนส.ค.

ก่อนหน้านี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลง 12.6% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2502

การใช้จ่ายของผู้บริโภคได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังจากมีการปิดเศรษฐกิจเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปิดร้านค้าต่างๆ ส่งผลให้มีผู้ตกงานจำนวนมาก และฉุดอุปสงค์ในการใช้จ่ายสินค้า

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (พีซีอี) เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากดีดตัวขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนีพีซีอีเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนก.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.4% เช่นกันในเดือนส.ค.

ส่วนดัชนีพีซีอี พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย.และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี พีซีอีพื้นฐานดีดตัวขึ้น 1.5% ในเดือนก.ย.