'ก้าวไกล' ลุยพื้นที่ 'พิจิตร-พิษณุโลก' เร่งแก้ปัญหาที่ดินทำกินตกค้างจากยุคคสช.

'ก้าวไกล' ลุยพื้นที่ 'พิจิตร-พิษณุโลก' เร่งแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้ประชาชน หลังพบปัญหาตกค้างมาจากยุคคสช.ไล่คนจน

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวพรรคก้าวไกล พร้อมคณะร่วมเดินทางตามโครงการก้าวไกลสัญจรภาคเหนือ โดยเริ่มต้นจาก อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร จากนั้นจึงเดินทางไป อ.วังทอง และ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เพื่อรับฟังปัญหาเกี่ยวกับสิทธิที่ดินทำกินทับซ้อนแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติและปัญหาจากเกษตรกรชาวสวนมะม่วง ที่ได้รับผลกระทบช่วงวิกฤติสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 โดยมี ดุษฎี บัวเขียว อดีตผู้สมัคร ส.ส.จ.พิจิตร เขต 2 พรรคอนาคตใหม่ เกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เเละ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล มาให้การต้อนรับ

นายพิธา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาลงพื้นที่ จ.พิจิตร เป็นครั้งเเรกในฐานะนักการเมือง ก่อนหน้านี้เคยมาสำรวจเกี่ยวกับปัญหาที่ดินและป่าทับที่ในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ ปัญหาที่ดินของพี่น้องประชาชน สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยรวมแล้วที่ดินในประเทศไทยมีเพียง 320 ล้านไร่ แต่พบว่าส่วนราชการมีแนวเขตที่ดินตามแผนที่ต่างๆจำนวนรวมกว่า 450 ล้านไร่ ซึ่งทับซ้อนกันเองบ้าง ทับซ้อนที่ดินทำกินประชาชนบ้าง ส่งผลให้เกิดปัญหาป่าทับในที่ดินทำกินของประชาชน นอกจากนี้ ในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.)  มีนโยบายทวงคืนผืนป่าจากนายทุนเเละคนรวย เเต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นการสนธิกำลังไล่ประชาชนในพื้นที่ 

“แนวทางนี้สวนกับแนวคิดผมคือ ประชาชนต้องอยู่กับป่าได้เเละต้องถามว่าทำไมการทวงคืนผืนป่าจึงไม่กล้าทวงคืนกับนายทุนที่ถือครองที่ดิน สปก. เเละบริษัทปูนซีเมนต์ที่รุกพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งนั่นเป็นเพราะพวกเขาสามารถถือครองสัมปทานคู่กับรัฐได้ เเต่ประชาชนตาดำๆไม่สามารถทำอะไรได้ เเม้กระทั่งผืนดินที่เป็นที่ดินทำกิน จึงสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคม สิทธิในการทำมาหากินเป็นสิทธิของประชาชน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ที่ดินที่ชาวบ้านถือครองมีปัญหาจำนองที่ดินไม่ได้ เนื่องจากที่ดินเหล่านั้น อยู่ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติและมีความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในโครงการทวงคืนผืนป่าของ คสช. โดยเฉพาะในพื้นที่รอยต่อ จ.พิจิตรและพิษณุโลกที่ส่วนใหญ่เป็นสวนมะม่วง”  

นายพิธา ยังได้กล่าวถึงรายละเอียดของปัญหาในพื้นที่ อ. สากเหล็ก จ.พิจิตร ว่า มีปัญหาจากการประกาศผังเมืองรวมในปีพ.ศ.2560 ให้บริเวณ 11 หมู่บ้าน 3 ตำบล กลายเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ ทั้งที่มีการออกโฉนดเอกสารสิทธิไปแล้วจำนวนกว่า 1,171 ราย เป็นพื้นที่กว่า 12,534 ไร่ ทำให้การกู้เงินกับจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ถูกระงับ รวมถึงพื้นที่ที่กำลังอยู่ระหว่างขอออกเอกสารสิทธิ์ก็ถูกระงับไว้ทั้งหมดเช่นกัน ซึ่งชาวบ้านหลายรายเสียเงินค่ารังวัดกับกรมที่ดินไปแล้ว 

“แม้เรื่องนี้จะเกิดขึ้นในสมัย คสช. โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสมัยนั้นมาลงพื้นที่รับฟังปัญหาแล้ว แต่ผ่านมากว่าสองปียังไม่มีการแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย ของอำเภอวังทอง และอำเภอเนินมะปราง ที่เคยมีนโยบายจัดสรรที่ดินเป็นนิคมสหกรณ์ ปัจจุบันหมดอายุการเช่า 30 ปีแล้ว แต่ผ่านมาหลายรัฐบาลก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนให้ประชาชนที่เคยทำกิน  ซ้ำร้ายปีนี้ชาวสวนมะม่วงยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 หลังปิดประเทศ เป็นเหตุให้สินค้าทางเกษตรล้นตลาดไม่สามารถจำหน่ายได้ ซึ่งการชดเชยเงินเยียวยาจากภาครัฐก็ไม่ได้เป็นไปอย่างทั่วถึง” 

นายพิธา ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนความอยุติธรรมของวิธีคิดเรื่องนโยบายที่ดินของรัฐบาลที่ผิดฝาผิดตัว ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในสังคม พรรคก้าวไกลจะนำปัญหาเหล่านี้ของประชาชนในพื้นที่ไปผลักดันต่อในคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากร ธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร  โดยจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง อธิบดีกรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่จากธนาคารการเกษตรเพื่อสหกรณ์ มาชี้เเจง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกัน นายพิธา ยังได้กล่าวกับชาวพิษณุโลกที่มาร่วมแลกเปลี่ยนว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับจังหวัดพิษณุโลก เช่นเดียวกับที่พี่น้องประชาชนไว้วางใจให้คะเเนนเลือกพรรคก้าวไกลจำนวนกว่า 90,000 คะเเนน จนได้ทั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เเละ ส.ส.แบบเเบ่งเขต ที่ล้มแชมป์นักการเมืองชื่อดังในอดีตได้ จะนำปัญหาเหล่านี้จากพื้นที่ประสานต่อไปยัง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนในเรื่องการเมืองท้องถิ่นพรรคก้าวไกลมองว่ามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาซึ่งจำเป็นต้องมีการกระจายอำนาจรัฐให้มากขึ้น  

ด้าน นายปดิพัทธ์ ส.ส.พิษณุโลก เขต1 พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การมาพื้นที่ อ.วังทอง เเละอ.เนินมะปราง ทำให้ได้รับทราบถึงปัญหางบประมาณเพื่อสร้างโรงงานแปรรูป รับปากว่าช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้จะนำเรื่องดังกล่าวเเละปัญหาต่างๆเข้าไปหารือกับผู้ว่าราชการ จ.พิษณุโลก คนใหม่ และจะนำปัญหาไปผลักดันต่อในสภา เพื่อให้ความฝันของประชาชนเกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะเรื่องของการเปิดเขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.พิษณุโลก หรือการเปิดเขตเศรษฐกิจพัฒนาภาคเหนือตอนล่าง ที่จะเป็นประตูส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ได้หยุดชะงักไปเพราะสถานการณ์โควิด นอกจากนี้ยังต้องฝากเรื่องของการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ธ.ค.63  ที่จะเป็นกุญแจในการปลดล็อกการกระจายอำนายรัฐรวมศูนย์ให้คืนอำนาจสู่ท้องถิ่น ครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งที่ต้องบอกว่าอำนาจของประชาชนอยู่มือของท่านเเล้ว