ย้อนดูผลสำรวจ 'ความฉลาดทางอารมณ์' เด็กไทย 9 ปีก่อน  

ย้อนดูผลสำรวจ 'ความฉลาดทางอารมณ์' เด็กไทย 9 ปีก่อน  

ทุกๆ 5 ปี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาหรือไอคิว(IQ) และความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว(Emotional Quotient:EQ)ในเด็กไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ผลสำรวจ ปี 2554 หรือเมื่อ 9 ปีก่อนพบว่ามีคะแนนอีคิวต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ

        คู่มือความฉลาดทางอารมณ์ ของกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า  อีคิว หรือความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถอารมณ์ในการดำเนินชิวิตอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข  ซึ่งการรู้จักความฉลาดทางอารมณ์ของตนเอง เพื่อการพัฒนาและการใช้ศักยภาพตนเองในการดำเนินชีวิตครอบครัว การทำงานและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ

       กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาแนวคิดเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.ดี  หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเอง รู้จักเห็นใจผู้อื่นและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม  2.เก่ง  หมายถึง ความสามารถในการรู้จักตนเอง มีแรงจูงใจ สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาและแสดงออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น  และ3.สุข หมายถึง ความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข มีความภูมิใจในตนเอง พอใจในชีวิตและมีความสุขสงบทางใจ
         ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์จากความสามารถ 3 ด้านหลักนี้
        ผลการสำรวจรอบของปี 2554 ซึ่งเป็นการสำรวจติดตามสถานการณ์ระดับความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กนักเรียนไทย อายุ 6-11 ปี ระดับประเทศเป็น ครั้งที่ 2 โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 5,325 คน  จากตัวแทน กรุงเทพมหานคร และ 4 ภาค รวม 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ระยอง สมุทรสาคร อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด กระบี่ ปัตตานี ใช้แบบทดสอบวัดความฉลาดทางอารมณ์ฉบับกรมสุขภาพจิต พบว่า มีคะแนนอีคิวเฉลี่ยระดับประเทศอยู่ระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ คือ มีค่าคะแนนอยู่ที่ 45.12 จากค่าคะแนนปกติ 50-100

         มีจุดอ่อนทั้ง 3 องค์ประกอบใหญ่ คือ ดี เก่ง สุข และเมื่อพิจารณาองค์ประกอบย่อยในแต่ละด้าน พบว่า การปรับตัวต่อปัญหา มีค่าคะแนนอยู่ที่ 46.65 การควบคุมอารมณ์ 46.50 การยอมรับถูกผิด 45.65 ความพอใจในตนเอง 45.65 ความใส่ใจและเข้าใจอารมณ์ผู้อื่น 45.42 การรู้จักปรับใจ 45.23 และที่เป็นจุดอ่อนมาก ได้แก่ ความมุ่งมั่นพยายาม ซึ่งมีค่าคะแนน อยู่ที่ 42.98 รองลงมา คือ ความกล้าแสดงออก 43.48 และความรื่นเริงเบิกบาน 44.53

      ขณะที่
ในปี 2559  กรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการสำรวจสถานการณ์ความฉลาดทางสติปัญญา (ไอคิว: IQ)และความฉลาดทางอารมณ์(อีคิว : EQ) เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศจำนวน 23,641 คนพบว่าความฉลาดทางอารมณ์ของเด็ก พบเป็นไปตามเป้าหมาย  77 %  แต่ก็ยังพบเด็กจำนวนไม่น้อยที่ยังต้องการการพัฒนา ซึ่งเด็กมีปัญหาอีคิวมากที่สุดในด้านขาดความมุ่งมั่นพยายามและขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา

     
 

ทั้งนี้ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ระบุว่า องค์ประกอบของอีคิวที่มีความสำคัญต่อเด็กวัยแรกเกิด – 5 ปี ที่พ่อแม่ควรเสริมสร้างให้กับลูก มีดังต่อไปนี้

  1. การรู้จักและการควบคุมอารมณ์

          การรู้จักและการควบคุมอารมณ์ การส่งเสริมให้เด็กควบคุมอารมณ์ได้ดี เริ่มต้นด้วยการฝึกให้เด็กรู้ว่าเขากำลังมีอารมณ์อย่างไร ให้รู้จักถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาเป็นคำพูด เพื่อที่เด็กจะได้รู้เท่าทันอารมณ์ เมื่อรู้เท่าทันอารมณ์ ก็จะสามารถควบคุมอารมณ์ได้เมื่อโตขึ้น

         การควบคุมตนเองมี 2 ประการ

  • การควบคุมความอยากเป็น เอาชนะความอยากได้ ไม่ตามใจตัวเองอย่างไร้สติ เช่น อดใจไม่รับประทานอาหารที่ทำให้เสียสุขภาพ
  • การควบคุมอารมณ์ เด็กควรรู้จักอารมณ์ตนเอง และสามารถทำให้อารมณ์สงบได้ โดยไม่เก็บกดอารมณ์ความรู้สึกไว้
  1. การเรียนรู้ระเบียบวินัย

          การเรียนรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก และการยอมรับผิด การสอนให้เด็กรู้ว่าอะไรควรและไม่ควร พ่อแม่ควรกำหนดขอบเขตเบื้องต้นให้เด็กรู้ว่าอะไรที่ทำได้ ทำไม่ได้ในเรื่องง่ายๆในชีวิตประจำวัน โดยที่พ่อแม่เป็นคนคอยควบคุมเด็กให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม เพราะว่าเด็กยังควบคุมตนเองไม่ได้ และที่สำคัญต้องทำเป็นตัวอย่างให้กับเด็กด้วย ควรสอนเด็กเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมในชีวิตประจำวัน
         พ่อแม่ควรมีเวลาคุยกับเด็กบ่อยๆ เช่น การพูดกับเด็กเกี่ยวกับสุภาษิต คำพังเพย การเล่นนิทาน พูดคุยกับเด็กทุกวัน การหยิบยกข่าวสารมาพูดคุยกับลูก เป็นต้น เด็กๆจะค่อยๆซึมซับคำสอนเหล่านั้น ในเด็กเล็กเมื่อเด็กยังทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ก็ไม่ควรใช้เหตุผลที่ยืดยาว เข้าใจยาก อธิบายให้เด็กฟังใช้เหตุผลง่ายๆสั้นๆ แล้วควบคุมเด็ก โดยจับเด็กไว้ แยกออกไปหรือเบี่ยงเบนความสนใจเรื่องอื่นและเมื่อเด็กโตพอที่จะเข้าใจจึงค่อยอธิบายเด็กก็จะเข้าใจเหตุผลมากขึ้นกว่าเดิม

          ฝึกวินัย พ่อแม่ควรฝึกให้เด็กควบคุมความประพฤติตนเองด้วยการที่พ่อแม่เป็นคนช่วยควบคุมความประพฤติอย่างเสมอ ต้นเสมอปลาย เมื่อเด็กโตขึ้นจะเรียนรู้ที่จะจะควบคุมตัวเองได้ในที่สุด เด็กควรมีวินัยในเรื่องเหล่านี้

  • วินัยในความประพฤติทั่วไป เช่น เก็บสิ่งของเข้าที่ ตรงต่อเวลา ปฏิบัติตามกฎระเบียบ รู้จักกาลเทศะ ประพฤติตนเหมาะกับวัย ทำกิจวัตรตามเวลา ช่วยเหลือตนเองได้ตามวัย
  • วินัยในการเรียน เช่น รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย การรักษาคำพูด
  • วินัยในการควบคุมตนเอง เช่น ควบคุมอารมณ์ได้ดีตามวัย และอดทนต่อความลำบากตามวัย
  1. ความสนุกสนานร่าเริง

          ความสุขของเด็กเป็นความสุขแบบสนุกสนานเพลิดเพลิน คือ สุขสนุกจากการเล่น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นตามลำพัง หรือเล่นกับกลุ่มเพื่อน เด็กที่มีโอกาสได้เล่นสนุกสนาน จะมีจิตใจร่าเริงแจ่มใส มีพื้นฐานอารมณ์ดี  จะเห็นได้ว่า หากเด็กได้รับการกระตุ้นพัฒนาอย่างถูกต้องและเหมาะสม ย่อมทำให้มีการพัฒนาของไอคิว และอีคิวที่ดีไปด้วย
        
อนึ่ง สามารถทำ
แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ Emotional Quotient :EQ ได้ที่ http://www.rajanukul.go.th/iqeq/index.php?mode=test&group=7

อ้างอิง:
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต

http://rajanukul.go.th/iqeq/index.php?mode=iqeq&group_id=0&id=139