WGE ชกข้ามรุ่น ! สู่สังเวียน 'เฮฟวี่เวท'

WGE ชกข้ามรุ่น ! สู่สังเวียน 'เฮฟวี่เวท'

'เวล เกรด เอ็นจิเนียริ่ง' ท้าชนรับงานตลาดใหญ่ มูลค่าระดับ 1,000 ล้านบาท เกาะเทรนด์กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายลงทุนท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 'เกรียงศักดิ์ บัวนุ่ม' ผู้ก่อตั้ง วางเป้าหมายแผนธุรกิจระยะยาว 3-5 ปี ต้องมีงานโครงสร้างพื้นฐานในพอร์ตมากขึ้น !

ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างอายุน้อยแค่ 10 ปี แต่ผลงานไม่ธรรมดา ! ความ 'โดดเด่น' นี้ กำลังจะส่งผลดีหุ้นไอพีโอน้องใหม่ บมจ. เวล เกรด เอ็นจิเนียริ่ง หรือ WGE ของ 'ตระกูลบัวนุ่ม' ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 60.20% ที่กำลังจะเข้าซื้อขาย (เทรด) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 3 พ.ย. 2563 ในราคาหุ้น 2.30 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท หลังเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรกจำนวน 160 ล้านหุ้น

สะท้อนผ่านผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2560-2562) มีกำไรสุทธิ 63.85 ล้านบาท 35.90 ล้านบาท และ 114.65 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 988.14 ล้านบาท 1,290.11 ล้านบาท และ 1,506.94 ล้านบาท ตามลำดับ 

'เกรียงศักดิ์ บัวนุ่ม' ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เวล เกรด เอ็นจิเนียริ่ง หรือ WGE ผู้ประกอบการให้บริการรับเหมาก่อสร้างอย่างครบวงจร เล่าสตอรี่การเติบโต ให้กับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า

160404436873

การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครานี้ ! เขายอมรับว่า เมื่อต้องการ 'ปลดล็อค' ข้อจำกัดการเติบโตของธุรกิจ หลังจากบริษัทมีเงินระดมทุนจะช่วยให้มีศักยภาพในการรับงานขนาดใหญ่สูงสุด 'ระดับ 1,000 ล้านบาท' จากปัจจุบัน 800 ล้านบาท ! และนำไปใช้ในการขยายพื้นที่คลังสินค้าและซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับใช้ในงานก่อสร้าง

อีกประเด็นที่ได้จากการเข้าระดมทุน คือ การสร้างความมั่นใจ ความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และคู้ค่า และหลังจากเป็นบริษัทมหาชนแล้ว โอกาสที่บริษัทจะได้ตอนรับทีมงานที่เป็นมืออาชีพเก่งมาร่วมงามด้วย นี่คือ 'เรือธง' ในการระดมทุน... หุ้นใหญ่ย้ำให้ฟังเช่นนั้น

'ธุรกิจโตมาระดับหนึ่งแล้ว ต่อไปเราจะต้องชกข้ามรุ่นเรื่อยๆ คู่แข่งก็จะใหญ่ด้วย ดังนั้น ผมต้องทำให้บริษัทสามารถแข่งกับเขาได้ และสไตล์การทำธุรกิจของผมจะไม่นั่งรอให้บริษัทค่อยๆ เติบโต ซึ่งทางเดียวที่ผมทำได้และคิดออกและมองว่าเป็นทางที่ถูกต้อง ผมต้องนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)'

สอดรับแผนธุรกิจระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้า (2564-2568) ที่บริษัทตั้งเป้ากระจายความเสี่ยงออกไปในตลาดใหม่ โดยเฉพาะงานภาครัฐที่เป็นงาน 'โครงสร้างพื้นฐาน' (อินฟราสตรัคเจอร์) เพิ่มมากขึ้น บ่งชี้ผ่านอยู่ในแวดวงรับเหมาก่อสร้างมากว่า 20 ปี ยังไม่เคยเห็นงานราชการลดลง โดยเมืองไทยยังต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก

อย่างไรก็ตาม งานโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นตลาดใหม่และฐานลูกค้าใหม่ที่บริษัทตั้งเป้าหมายจะขยายตลาดเข้าไป อาทิ งานรับเหมาก่อสร้างเขื่อนป้องกันดินพัง , งานนำสายไฟฟ้าลงดิน , งานก่อสร้างถนน (ที่ไม่ยากเหมือนทางด่วน) , งานวางระบบท่อประปา เป็นต้น โดยงานลักษณะดังกล่าวบริษัทจะค่อยๆ ก้าวเข้าไปร่วมประมูล ซึ่งหากเป็นงานที่มีขนาดใหญ่บริษัทอาจจะต้องใช้กลยุทธ์จับมือกับพันธมิตรในการร่วมประมูล “หากเราต้องการเขย่งตัวเองก็ต้องไปในลักษณะดังกล่าวไปก่อน

'ที่ผ่านมา WGE อยู่ในระดับผู้รับเหมาขนาดกลาง ขีดความสามารถในการรับงานสูงสุดที่เคยทำ 800 ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายเราต้องเพิ่มขีดความสามารถในการรับงานพันล้านบาท และด้วยการเข้ามาเป็นบริษัทมหาชน และมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เชื่อว่าจะสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้'

160404444312

เกรียงศักดิ์ บัวนุ่ม

เขา บอกต่อว่า อีกหนึ่งงานที่มีความโดดเด่นมากในปัจจุบันคือ 'งานรับเหมาก่อสร้างโรงงาน' ซึ่งบริษัทเพิ่งเข้ามารับงานดังกล่าวเมื่อปี 2562 แต่สัดส่วนรายได้งานก่อสร้างโรงงานกลับเติบโต 'ก้าวกระโดด' สะท้อนผ่าน สัดส่วนรายได้งานโรงงานปี 2562 อยู่ที่ 1.73% ขณะที่ 6 เดือนแรกปี 2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 35.84%

โดยในครึ่งปีแรก 2563 ผู้ประกอบการภาคเอกชนในกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 แต่ธุรกิจได้ประโยชน์มีการลงทุนขยายโรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมส่งออกอาหาร , กลุ่มเกี่ยวกับสุขภาพ เป็นต้น สะท้อนผ่านบริษัทกำลังประมูลงานก่อสร้างโรงงานถุงมือยางในพื้นที่ภาคใต้จำนวน 4 แห่ง

นอกจากนี้ บริษัทยังมองไปต่อว่าหากประเทศไทยเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนใน 'โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก' (EEC) บริษัทวางแผนรองรับการลงทุนไว้แล้ว ด้วยการเตรียมทีมงานไว้ เพราะมองเห็นโอกาสในการลงทุนดังกล่าวอีกมหาศาล

'หากโครงการลงทุนใน EEC เอกชนเข้ามาลงทุน ผมพร้อมที่จะใส่เกียร์ลงทุน 100% อย่างแน่นอน เพราะว่าตอนนี้เรามีทีมงานที่พร้อมอยู่แล้ว'

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ต้องยอมรับว่าบริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 หลังลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ 'ภาคอสังหาริมทรัพย์' ชะลอประมูลโครงการลงทุนใหม่ๆ ออกไปก่อน สะท้อนผ่านสัดส่วนรับงานอสังหาฯ ของบริษัท 'ลดลง' จากปี 2562 ที่มีสัดส่วนงานอสังหาฯ อยู่ที่ 75.66% ขณะที่ 6 เดือนแรกปี 2563 เหลือแค่ 40.69% แต่มองว่าปีหน้างานอสังหาฯ จะเพิ่มมากขึ้น หลัง 6 เดือนหลัง 2563 เริ่มเห็นสัญญาณลูกค้าอสังหาฯ เริ่มกลับมาลงทุนใหม่อีกครั้ง

โดย 6 เดือนแรกปี 2563 สัดส่วนงานเอกชนอยู่ที่ 76.53% งานรัฐ 23.47% โดยแบ่งเป็นงานอสังหาฯ สัดส่วน 40.69% , งานโรงงาน 35.84% งานโรงพยาบาล 16.33% และอาคาร 7.14% เทียบกับปี 2562 สัดส่วนรายได้ภาครัฐและเอกชน ซึ่งงานภาครัฐ 22.61% เอกชน 77.39% แบ่งเป็นงานอสังหาฯ สัดส่วน 75.66% โรงงาน 1.73% งานโรงพยาบาล 4.44% งานอาคาร 18.17%

การระบาดโควิด-19 ในแง่ของกลยุทธ์การทำธุรกิจถือว่าบริษัทเปลี่ยนน่านน้ำเร็ว จากเดิมที่พอร์ตอสังหาฯ มาก และบริษัทได้รับผลกระทบจากลูกค้าอสังหาฯ ชะลอลงทุนโครงการออกไปก่อนราว 3-4 โครงการ ดังนั้น ผ่านมา 6 เดือน สิ่งที่บริษัทดำเนินการโดยด่วนคือการกระจายความเสี่ยงออกจากลูกค้าอสังหาฯ ไปหากลุ่มลูกค้าที่มีการเติบโตอย่าง ลูกค้ากลุ่มโรงงาน และลูกค้าโรงพยาบาล

'ลูกค้าอสังหาฯ ชะลอตัว ทำให้บริษัทต้องมองหาตลาดใหม่ สะท้อนผ่านการเข้าประมูลงานราชการเพิ่มมากขึ้น เข้าประมูลงานโรงงานมากขึ้น'

อย่างไรก็ตาม เขา บอกว่า ตลาดอสังหาฯ ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดยังเดินต่อไปได้ ซึ่งในฐานลูกค้าของบริษัทหลักๆ เป็นบริษัทมหาชนรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไปต่อได้ แม้ว่าตอนนี้ตลาดอสังหาฯ จะไม่ 'รุ่งเรือง' เหมือนช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนงานที่ออกมาในตลาดอาจจะลดน้อยลงมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่างานจะหมดไปจากตลาดยังไงก็ต้องมีงานออกมาในตลาดอยู่ ดังนั้น เมื่องานอสังหาฯ น้อยลง บริษัทก็กระจายพอร์ตจากก่อสร้างส่วนอื่นได้

ท้ายสุด 'เกรียงศักดิ์' ทิ้งท้ายไว้ว่า จากผลงานตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ในแวดวงรับเหมาก่อสร้างโดดเด่นเช่นกัน อย่างรางวัลบริษัทผู้รับเหมาให้บริการหลังการขายคอนโดมิเนียมดีเด่น จาก บมจ.แสนสิริ หรือ SIRI รวมทั้งยังมีโครงการรัฐที่เชื่อมือบริษัทในการก่อสร้างอาคารสูงในอีกหลากหลายโครงการที่ผ่านมา !

160404447475

จุดเริ่มต้น 'เวล เกรด เอ็นจิเนียริ่ง' 

ด้วยความที่คลุกคลี่กับ 'รับเหมาก่อสร้าง' มาตั้งแต่วัยเยาว์ จากครอบครัว (พ่อ) ยึดอาชีพรับเหมาก่อสร้างทั่วไปในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ทำให้ 'เกรียงศักดิ์ บัวนุ่ม' ชายหนุ่มจากพัทลุงอยากจะเรียนก่อสร้างเพื่อมาช่วยงานพ่อ ! เมื่อจบม.3 จากโรงเรียนประจำจังหวัด ก็ผันตัวเองเข้ามาเรียนต่อสายอาชีพ ที่วิทยาลัยเทคนิค (ปวช.) และตัดสินใจเดินทางมากรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อศึกษาต่อแต่สอบไม่ติด จนเบนเข็มเรียนต่อระดับ ปวส. ที่เทคโนโลยีนครราชสีมา

เมื่อเรียนจบระดับ ปวส. ได้สมัครเป็นนายช่าง อบต. ปทุมธานี ระหว่างทำงานก็เรียนระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เริ่มทำงานหลังเรียนจบบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ระหว่างทำงานก็เรียนต่อปริญญาโทวิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐานและการบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปด้วย

ทำงานที่บริษัทแห่งนี้ร่วม 10 ปี ก่อนจะผันตัวเองเป็นเจ้าของกิจการ หลังเถ้าแก่หยิบยื่นโอกาสให้ด้วยการให้รับงานเหมาก่อสร้างโรงพยาบาลนครินทร์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มูลค่า 180 ล้านบาท ทั้งๆ ที่บริษัทมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นแค่ 5 ล้านบาท แต่ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท