แรงงานอุตฯการบินระส่ำ-‘โบอิง’ปลดพนักงานเพิ่ม

แรงงานอุตฯการบินระส่ำ-‘โบอิง’ปลดพนักงานเพิ่ม

แรงงานอุตฯการบินระส่ำ-‘โบอิง’ปลดพนักงานเพิ่ม ขณะกลุ่มปฏิบัติการขนส่งทางอากาศ (เอทีเอจี) ระบุว่ามีความเสี่ยงสูงที่ตำแหน่งงานประมาณ 46 ล้านคนจะหายไป เพราะผลพวงการระบาดของโรคโควิด-19

การระบาดของโรคโควิด-19 สงผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆกับบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด บริษัทโบอิง ประกาศว่าจะปลดพนักงานเพิ่ม หลังจากประสบภาวะขาดทุนติดต่อกัน 4 ไตรมาส เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการที่เครื่องบินรุ่น 737แม็กซ์ ยังคงถูกสั่งห้ามบิน หลังจากที่เครื่องบิน 2 ลำของรุ่นนี้ประสบอุบัติเหตุตกลงในปี 2561 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 346 คน

“เดฟ คาลฮูน” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ของบริษัทโบอิง เปิดเผยกับพนักงานของบริษัทว่าบริษัทต้องปลดพนักงานออกราว 30,000 คน เพื่อให้บริษัทมีพนักงานเหลืออยู่ประมาณ 130,000 คน จากจำนวนพนักงานกว่า 160,000 คน ภายในสิ้นปี 2564

โบอิงเปิดให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ โดยการประกาศรอบล่าสุดนี้จะส่งผลให้ต้องมีพนักงานที่ถูกปลดเพิ่มเติมอีกราว 11,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ คาลฮูน ยังคาดการณ์ด้วยว่า การเดินทางทางอากาศทั่วโลกตลอดปีนี้จะเหลือเพียง 30-35% เมื่อเทียบกับระดับของปีที่แล้ว และอาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 ปีจึงสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ พร้อมทั้งเสริมว่า กฎข้อบังคับที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นหลังจากเกิดอุบัติเหตุกับเครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์จะส่งผลให้การเปิดตัวเครื่องบินโบอิง 777 เอ็กซ์ รุ่นใหม่ 400 ที่นั่งต้องล่าช้าออกไป

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (เอฟเอเอ) อาจพิจารณาทบทวนคำสั่งห้ามบินที่ได้บังคับใช้ต่อเครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ ซึ่งหากเอฟเอเอให้การอนุมัติต่อแผนการปรับปรุงระบบซอฟท์แวร์ และการฝึกอบรมของบริษัท ก็จะทำให้เครื่องบินรุ่นดังกล่าวสามารถกลับมาให้บริการได้ในปีหน้า

การประกาศปลดพนักงานเพิ่มของโบอิงสอดคล้องกับรายงานของกลุ่มปฏิบัติการขนส่งทางอากาศ (เอทีเอจี) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรในอุตสาหกรรมการบิน เมื่อปลายเดือน ก.ย. ว่ามีความเสี่ยงสูงที่ตำแหน่งงานประมาณ 46 ล้านคนจะหายไป เพราะผลพวงการระบาดของโรคโควิด-19 จากแรงงานทั้งหมดในระบบ 88 ล้านคน ทั้งยังประเมินว่าอุตสาหกรรมการบินจะยังไม่ฟื้นตัวเท่ากับระดับเดียวกับในปี 2562 จนกว่าจะถึงปี 2567

รายงานวิเคราะห์จากอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิคส์ ระบุว่า การสูญเสียตำแหน่งงานในสนามบิน สายการบิน บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินและอุปกรณ์กี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทด้านอากาศยาน อาจมีจำนวนถึง 4.8 ล้านคน ภายในต้นปี 2564 การจ้างงานจะลดลงถึง43% จากระดับก่อนที่โรคโควิด-19 ระบาด

นอกจากนี้ ตำแหน่งงานอีก 26 ล้านตำแหน่งที่อยู่ในความเสี่ยง อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศ ส่วนอีกประมาณ 15 ล้านตำแหน่ง อยู่ในธุรกิจขายสินค้าและบริการในห่วงโซ่อุปทานการขนส่งทางอากาศหรือในอุตสาหกรรมการบิน

ตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมการบิน1ใน 3 หรือประมาณ 1.3 ล้านคนเสี่ยงตกงาน ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากการบินอาจมีมูลค่าลดลงถึง 52% ซึ่งเมื่อประเมินเป็นการสูญเสียจีดีพีทั่วโลกจะมีมูลค่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะมีผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมเป็นเวลานานหลายปี ภัยพิบัติครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนทำงานหลายล้านคนที่พึ่งพาการเดินทางทางอากาศทั่วโลก ที่เกือบอยู่ในสภาพหยุดนิ่งเพราะมาตรการคุมเข้มเพื่อสกัดกั้นการระบาดทั่วโลกตั้งแต่เดือน เม.ย. และคาดว่าจะยังคงตกต่ำต่อไปอีกหลายปี

“ในอดีตปริมาณผู้โดยสารสารการบินเคยลดลง แต่ก็ไม่เคยลดลงมากทั่วโลกอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้” รายงานของเอทีเอจี ระบุ พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารในปีนี้จะน้อยกว่าปี2562 ประมาณครึ่งหนึ่ง

นอกจากนี้ เซอริอุม(Cirium) บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเดินทางทางอากาศ ระบุเมื่อเดือน ต.ค. ว่า การสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากภาคบาลช่วยให้สายการบินบางแห่งรอดพ้นจากการล้มละลายแต่อาจมีสายการบินจำนวนมากขึ้นที่จะต้องยุติการให้บริการอย่างสิ้นเชิงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยนับตั้งแต่เดือน ม.ค. สายการบินพาณิชย์ 43 รายตัดสินใจระงับการให้บริการอย่างเป็นทางการเทียบกับ 46 รายของทั้งปี 2562 และ 56 รายในปี 2561

“โซบี อะวิเอชัน” บริษัทวิเคราะห์อิสระให้ความเห็นว่า ถ้ารัฐบาลไม่เข้ามาช่วย สายการบินต่าง ๆ อาจล้มละลายเป็นจำนวนมากในช่วง 6 เดือนแรกของวิกฤตนี้

ที่ผ่านมา สายการบินทั่วโลกเรียกร้องรัฐบาลให้การสนับสนุนทางการเงิน รวมทั้งอำนวยความสะดวกการตรวจเชื้อโควิด-19 ให้ผู้โดยสารก่อนขึ้นบิน พร้อมทั้งขอให้ผ่อนปรนข้อจำกัดต่าง ๆ ที่บังคับให้นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจหลายล้านคนต้องเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทาง โดยเฉพาะการกดดันให้รัฐบาลประเทศตนนำมาตรการอื่นมาใช้แทนการกักตัวผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นเวลา 14 วัน ขณะที่กำลังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรอบใหม่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐ