‘ดาวโจนส์’ดีดตัว 139 จุดรับอานิสงส์ตัวเลขศก.สหรัฐแกร่ง

‘ดาวโจนส์’ดีดตัว 139 จุดรับอานิสงส์ตัวเลขศก.สหรัฐแกร่ง

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันพฤหัสบดี(29ต.ค.)ดีดตัว 139 จุด เพราะได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งในวันนี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 139.16 จุด หรือ 0.52% ปิดที่ 26,659.11 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 39.08 จุด หรือ 1.19% ปิดที่ 3,310.11 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 180.73 จุด หรือ 1.64% ปิดที่ 11,185.59 จุด

ขณะนี้ บริษัทในดัชนีเอสแอนด์พี500 จำนวนมากกว่า 270 แห่งได้ประกาศผลประกอบการในไตรมาส 3 แล้ว โดยจำนวน 85% มีผลประกอบการสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีต่างดีดตัวขึ้น ก่อนการเปิดเผยผลประกอบการหลังจากปิดตลาดวันนี้

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 3/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 33.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 2490 หรือกว่า 70 ปีก่อนหน้านี้

ตัวเลขการขยายตัวดังกล่าวดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 32%

สหรัฐมีการขยายตัวสูงสุดก่อนหน้านี้ที่ระดับ 16.7% โดยทำไว้ในไตรมาสแรกของปี 2493

การขยายตัวเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐในไตรมาส 3/2563 ได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้มีการเปิดเศรษฐกิจ และเริ่มมีการจ้างงาน หลังจากที่ได้ปิดเศรษฐกิจก่อนหน้านี้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 31.4% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงเป็นประวัติการณ์ หลังจากหดตัว 5% ในไตรมาส 1 ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

การเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในวันนี้ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย.เพียง 5 วัน อาจเป็นปัจจัยที่เอื้อประโยชน์ต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในการครองทำเนียบขาวอีกสมัยหนึ่ง

ในปีที่แล้ว เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3.1% ในไตรมาส 1 และ 2.0% ในไตรมาส 2 ขณะที่เติบโต 2.1% ทั้งในไตรมาส 3 และ 4

นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.3% ในปี 2562 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยต่ำกว่าระดับ 2.9% ในปี 2561 และ 2.4% ในปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกในการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่เขาตั้งเป้าการขยายตัวรายปีของเศรษฐกิจสหรัฐไม่ต่ำกว่า 3% ในช่วงการดำรงตำแหน่ง 4 ปีของเขา

ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน โดยลดลงสู่ระดับ 751,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 778,000 ราย หลังจากอยู่ที่ระดับ 791,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกต่ำกว่าระดับ 1 ล้านรายเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน หลังจากพุ่งเหนือระดับ 1 ล้านรายเป็นเวลานาน 5 เดือน นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือนมี.ค.

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 200 จุดในช่วงแรก หลังจากทรุดตัวลงกว่า 900 จุดเมื่อวานนี้ ท่ามกลางความกังวลที่ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะทำให้ประเทศต่างๆประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และความล่าช้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ