อย่าปล่อยวิกฤติยืดเยื้อ ถล่มซ้ำเศรษฐกิจไทย

อย่าปล่อยวิกฤติยืดเยื้อ ถล่มซ้ำเศรษฐกิจไทย

ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ขณะเดียวกันยังคงมีปัจจัยลบภายในประเทศ โดยเฉพาะความวุ่นวายทางการเมืองที่ส่อเค้ายืดเยื้อ ซึ่งทุกภาคส่วนยังรอความชัดเจนที่ทุกฝ่ายต้องแสดงออกถึงความจริงใจในการแก้ปัญหา เพื่อให้ประเทศไทยบอบช้ำกว่านี้

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมาเปิดเผยเศรษฐกิจไทยเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า เริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ สะท้อนจากการบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากมาตรการผ่อนคลายการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าที่หดตัวในอัตราชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ด้านอุปทาน ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมยังปรับตัวดีขึ้น เว้นแต่ภาคท่องเที่ยวที่ยังคงชะลอตัว 

ส่วนภาคการส่งออกเดือนกันยายนก็ติดลบน้อยลงประมาณ 3.9% ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จากการขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มสินค้า คือ สินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด ขณะที่การส่งออกรถยนต์ น้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และแผงวงจรไฟฟ้ายังชะลอตัว ด้านการนำเข้าติดลบ 9.1%

เช่นเดียวกับการบริโภค ที่ภาคเอกชนมีสัญญาณปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่ปรับตัวดีขึ้น โดยกลับมาขยายตัว 0.1% และ 3.3% จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนที่สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 25 เดือน

โดยรวมๆ แล้ว เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในหลายด้าน ท่ามกลางความกังวลในเรื่องของปัจจัยลบภายในประเทศ โดยเฉพาะความวุ่นวายทางการเมืองที่ดูแล้วมีความยืดเยื้อ บานปลาย ความเห็นที่ขัดแย้งยังคงคุกรุ่นออกมาจากหลายฝ่าย เป็นบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อ เราเห็นว่ารัฐบาล และทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายต่อต้าน และฝ่ายสนับสนุนต้องเร่งเจรจา หาข้อยุติความขัดแย้งในประเทศให้จบลงโดยเร็ว การปล่อยปัญหาทุกอย่างให้ลากยาวไม่มีจุดสิ้นสุด ไม่ส่งผลดีต่อฝ่ายไหนทั้งสิ้น มีแต่ส่งผลเสียให้กับประเทศอย่างสุดจะคาดเดา

ภาคเอกชน นักลงทุน ประชาชน ยังรอความชัดเจนที่อยากเห็นการหันหน้าเจรจา ที่ทุกฝ่ายต้องแสดงออกถึงความจริงใจในการแก้ปัญหา เพราะเสถียรภาพทางการเมือง และความวุ่นวายทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นวิกฤติซ้ำเติมจากที่เจ็บหนักอยู่แล้วจากวิกฤติโควิด ที่แม้วันนี้เราสามารถบริหารจัดการคุมการแพร่ระบาดได้ดี หากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ผุดขึ้นมา กลับยิ่งส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่น ภาพลักษณ์ของประเทศเป็นอย่างมาก ยิ่งปล่อยปัญหาลากยาว ประเทศไทยจะยิ่งบอบช้ำ ยากต่อการพลิกฟื้นคืนกลับมาเป็น “เสือตัวใหญ่ที่พร้อมคำราม” สู้ทุกความท้าทายในโลก