3 สัญญาณเตือน 'โรคหลอดเลือดสมอง' รีบพบแพทย์เร็วที่สุดภายใน 4 ชม.ครึ่ง

3 สัญญาณเตือน 'โรคหลอดเลือดสมอง' รีบพบแพทย์เร็วที่สุดภายใน 4 ชม.ครึ่ง

แพทย์เตือนประชาชนให้ตื่นตัวในการป้องกันตนเองจากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นทุกปี หากมีอาการ แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก ตามองเห็นภาพซ้อนแบบเฉียบพลัน ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันอัมพาตโลก (World Stroke Day)  จึงรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยประเทศไทยพบโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจาก โรคมะเร็งและโรคหัวใจตามลำดับ และยังพบว่าเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ของโรคทางระบบประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและความพิการ  หากประชาชนรู้จักดูแลตนเองและ หมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอจะสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคดังกล่าวได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม และภาวะน้ำหนักเกิน

          

                                             3 สัญญาณเตือน 'โรคหลอดเลือดสมอง' รีบพบแพทย์เร็วที่สุดภายใน 4 ชม.ครึ่ง

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์  ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า  อาการเตือนสำคัญที่สังเกตได้ด้วยตนเองตามหลัก FAST  คือ F = Face ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า ตามัวเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก A = Arm  อาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง S=Speech ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก และ T= Time เวลาที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง อาการเหล่านี้มักเกิดอย่างเฉียบพลันในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว อาจเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดขึ้นหลายครั้ง ก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดอย่างถาวร สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องสังเกตอาการข้างต้นและรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดจะช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการได้ เนื่องจากเซลล์สมองขาดเลือดเพียง 1 นาที จะมีเซลล์สมองตายประมาณ 1 ล้านเซลล์ ถ้าได้รับการรักษาช้าอาจทำให้เกิดความพิการมากขึ้น สำหรับแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหาร รสเค็มจัดไขมันสูง ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมันและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบหรี่ รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ดังนั้นประชาชนควรตระหนักและมีความรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และตลอดจน อาการเบื้องต้นของโรค หากผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วควรรักษาและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด และรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการ