คลังส่งสัญญานเศรษฐกิจฟื้น 'กำลังซื้อ-ลงทุน' ก.ย.กระเตื้องชัด

คลังส่งสัญญานเศรษฐกิจฟื้น 'กำลังซื้อ-ลงทุน' ก.ย.กระเตื้องชัด

คลังชี้สัญญานเศรษฐกิจฟื้นตัวปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้ดีขึ้นเหลือติดลบ 7.7% จากติดลบ 8.5% รับปัจจัยบวกเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวแกร่ง หนุนภาคส่งออก ด้านแบงก์ชาติผ่อนเกณฑ์ซอฟท์โลนเปิดทางบสย.ค้ำประกันหนี้ 3-10 ปี

ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจประจำเดือนกันยายน เทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 ส่งสัญญานในทางบวกว่าเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่เส้นทางของการฟื้นจัวอย่างช้าๆ หลังรัฐบาลใช้เงินหลายแสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ล่าสุดกระทรวงการคลัง ปรับประมาณอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปี 2563 ดีขึ้น

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 และ 2564 ล่าสุด คาดว่าปี 2563 จะขยายตัวดีขึ้น โดยจะขยายตัวติดลบ 7.7% จากปประมาณการเดิมเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมาที่คาดจะขยายตัวติดลบ 8.5% ส่วนปี 2564 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 4.5% ไม่เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการครั้งก่อนทั้งนี้ อย่างไรก็ตามการประมาณการครั้งนี้ ไม่นับปัจจัยการเมือง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเดินได้ต่อเนื่อง

“ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปีขยายตัวดีขึ้น โดยปัจจัยด้านต่างประเทศ เป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มขยายตัวดี ทำให้การค้าขายดีขึ้น ส่วนในประเทศนั้น ก็มีเม็ดเงินจากภาครัฐทั้งในส่วนงบประมาณปกติและจากพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน ที่เข้าไปช่วยพยุง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปีหดตัวดีขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับการคาดการณ์ของแบงก์ชาติที่คาดจะขยายตัวติดลบ 7.8% ลดลงจากมิ.ย.ที่คาดการณ์ว่าขยายตัวติดลบ 8.1%”

เปิดประเทศปัจจัยบวก

ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก 1.การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของและการเริ่มเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น 2.เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญมีการฟื้นตัวที่ชัดเจน นำโดยกลุ่มประเทศในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม ส่งผลให้ภาคการส่งออกสินค้าของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 3.การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19ของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคประชาชน ภาคเอกชนและต่างประเทศ โดยคาดว่าในปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนจะหดตัวที่ 3.0%ต่อปี และ 9.8% ต่อปีตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวที่ 7.8%ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 11.0%ต่อปี

นอกจากนี้ในช่วงครึ่งหลังของปี2563 ภาครัฐยังได้ดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยประกอบไปด้วย โครงการ“เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”โครงการ“คนละครึ่ง”และมาตรการ“ช้อปดีมีคืน”ซึ่งจะมีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทย รักษาระดับการจ้างงาน และสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานรากคิดเป็น 0.54%ต่อปี

“คาดว่า การบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 4.0% ต่อปี และ 10.5%ต่อปีตามลำดับ และคาดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 และจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ติดลบน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563”

สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยคาดว่าอยู่ในระดับที่มั่นคง โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 จะติดลบ 0.9% ปรับตัวลดลงจากปีก่อน ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 14.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 2.8% ของจีดีพี

ดัชนีก.ย.สัญญานบวกเพียบ

สำหรับเศรษฐกิจประจำเดือนกันยายนพบว่าดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ด้านการบริโภคภาคเอกชนดีขึ้น สะท้อนผ่านการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวจาก 0.1% เป็น 3.3% สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน ที่สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัว 32.6% และ 0.7% ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันและขยายตัวสูงสุดในรอบ 25 เดือน ที่ 10.5% ต่อปี

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์กลับมาขยายตัว 13.5% สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 4.4% ส่วนการลงทุนในหมวดการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกัน

เช่นเดียวกับเศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 3.9% และเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

นายพรชัย กล่าวด้วยว่า ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศหลายประเทศ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อทิศทางการค้าและเศรษฐกิจโลก การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit)รวมถึง ความเปราะบางของเสถียรภาพระบบการเงินโลกที่อาจสูงขึ้น จากการดำเนินมาตรการการเงินการคลังของแต่ละประเทศ

ฟิทช์คงเครดิต จับตาการเมือง

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า ฟิทช์ เรทติ้ง ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ เนื่องจากประเทศไทยมีความเข้มแข็งภาคการคลังและภาคการเงินต่างประเทศอยู่ในระดับสูง ซึ่งมีส่วนช่วยรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง และความผันผวนของวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งสถานการณ์การระบาดของโควิดได้เป็นอย่างดี

ประเด็นที่ฟิทช์ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อจีดีพี และความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งอาจมีผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะปานกลาง

ธปท.เปิดทางบสย.ค้ำซอฟท์โลน

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาทของธปท. ปัจจุบัน ยังมีวงเงินเหลืออยู่จำนวนมาก ล่าสุด ได้ให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อ ในปีที่ 3-10 ในวงเงิน 57,000 ล้านบาท โดยบสย. จะเข้ามาค้ำประกัน หรือรับความเสี่ยง ที่ 30% ของวงเงินการปล่อยสินเชื่อหากเกิดหนี้เสีย ซึ่งทำให้ลูกหนี้เอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงสินเชื่อซอฟท์โลนธปท.ได้ง่ายขึ้น

“ลูกหนี้ที่เคยขอซอฟท์โลนไปแล้ว แต่สถาบันการเงินไม่มีความมั่นใจที่จะปล่อยกู้ ก็สามารถกลับมาติดต่อขอสินเชื่อใหม่ได้”

สำหรับความคืบหน้าการให้สินเชื่อซอฟท์โลนธปท.ถึง 19 ต.ค. ล่าสุดมีสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 119,690 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ที่ได้รับสินเชื่อแล้ว 71,284 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติเฉลี่ย 1.7 ล้านบาทต่อราย สัดส่วนผู้ที่ได้รับซอฟท์โลนเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท ถึง 76.1% เอสเอ็มอีขนาดกลางที่มีวงเงินสินเชื่อ 20-100 ล้านบาท 17.4% และธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ที่มีวงเงินกู้ 100-500 ล้านบาท 6.5 %

เอกชนมั่นใจปล่อยกู้ได้เพิ่ม

  นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.กล่าวว่าโครงการซอฟทโลนพลัส หลักๆ จะเข้ามาค้ำประกันต่อจากซอฟท์โลนธปท.หลังจากปีที่ 3 ของการผ่อนชำระเป็นต้นไป จนถึง 10 ปี ซึ่งถือเป็นการยืดหยุ่นมากขึ้นในการชำระเงิน แก่ผู้ประกอบการ ที่จะเพิ่มการชำระหนัี้ไปจนถึง 10 ปี หากเทียบกับเงื่อนไขเดิมของซอฟท์โลน ที่มีกำหนดให้ผู้ประกอบการผ่อนชำระได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ดังนั้นการใช้กลไกบสย.ครั้งนี้ คือการเข้ามาช่วยสร้างความมั่นใจให้กับแบงก์กล้าปล่อยกู้มากขึ้น เพราะมีระยะเวลาการผ่อนชำระยาวขึ้น ลดการตึงตัวด้านสภาพคล่องและลดโอกาสเกิดหนี้เสียต่ำลงในอนาคต

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การเปิดให้บสย.เข้ามาค้ำประกันซอฟท์โลนในปีที่ 3-10 เชื่อว่ามีส่วนช่วยให้ธนาคารต่างๆกล้าปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากมีบสย.เข้ามารับประกันความเสี่ยง หากเกิดหนี้เสีย หรือลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต

สำหรับการปล่อยสินเชื่อซอทฟ์โลน ของธปท. ให้กับภาคธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ให้กับลูกค้ากสิกรไทย จนถึง 11 ต.ค.อยู่ที่ 2.17 หมื่นล้านบาท โดยคิดเป็นธุรกิจที่ได้รับซอฟท์โลน 6.8 พันราย ขณะเดียวกันสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจโดยรวม ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ธนาคารปล่อยกู้ไปแล้วเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อของกสิกรไทยเอง 1.2 แสนล้านบาท