เปิดรายงาน "กมธ.รัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ"​ ชี้แก้รายมาตราส่อมีปัญหาทางกฎหมาย

เปิดรายงาน "กมธ.รัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ"​ ชี้แก้รายมาตราส่อมีปัญหาทางกฎหมาย

กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ รัฐสภา ทำรายงานแล้วเสร็จและเสนอต่อประธานรัฐสภาแล้ว โดยสาระที่ได้นั้น ไม่สรุปแบบฟันธง แต่ชี้ไป 2 ทาง ส่วนที่ไม่เห็นด้วย ยกข้อกฏหมายหักล้าง

      ผู้สื่อข่าวรายงานถึงรายงานของกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ รัฐสภา ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ.​ที่พิจารณาแล้วเสร็จและนำเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ฐานะประธานรัฐสภาไปแล้วนั้น
      มีรายละเอียดที่นำเสนอ โดยแยกผลพิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ญัตติ เป็นรายฉบับและระบุความเห็นทางข้อกฎหมาย โดยมีสาระสำคัญ คือ   ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และตั้งหมวดใหม่ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ซี่งเสนอโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย  และคณะ  ระบุสาระสำคัญ ในประเด็นว่าด้วย การขัดต่อรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
      แนวทางแรก เห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนแนวทางสอง เห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่สามารถดำเนินการได้ โดยกมธ. ให้ความเห็นและเหตุผลประกอบไว้หลายประเด็น​ อาทิ  รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายมหาชน เรื่องที่ไม่ได้เขียนไว้ย่อมทำไม่ได้ โดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมคือการเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วน บนโครงสร้างรัฐธรรมนูญเดิมที่คงอยู่ แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ คือการยกร่างใหม่โดยไม่ยึดโยงกับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่กำหนดเรื่องว่าด้วยจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ มีเพียงการกำหนดเจตนารมณ์ให้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา
      ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ประเด็นสองว่าด้วยการทำประชามติ โดยกมธ. มีความเห็น 2 แนวทาง คือ ให้ทำประชามติหลังจากที่ยกร่างแก้ไขและลงมติวาระสามแล้วเสร็จ ขณะที่อีกแนวทางเห็นว่าต้องทำประชามติก่อนลงมติรับหลักการ
      เพราะเนื้อหาเข้าข่ายการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้การออกเสียงประชามติก่อนรับหลักการ ระหว่างที่ไม่มีกฎหมายว่าด้วยการทำประชามติใช้บังคับนั้น สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 โดยอำนาจของคณะรัฐมนตรี ที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถร้องขอให้ดำเนินการ เพื่อสอบถามเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนว่าต้องการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับหรือไม่  
      ขณะที่ประเด็นสาม ว่าด้วยการป้องกันไม่ให้ส.ส.ร. แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจอื่นใดของพระมหากษัตริย์ นอกเหนือจากหมวด 1 บททั่วไปและ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ความเห็นของกมธ.ฯ มีอย่างหลากหลาย โดยไม่ระบุชี้ชัดถึงมาตรการ แต่มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่าเป็นเรื่องไม่ควรกระทำ 
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และตั้งหมวดใหม่ ให้มีส.ส.ร.  ตามร่างที่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเสนอนั้น กมธ.ฯ​ให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันกับ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน
      ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเป็นรายมาตราทั้ง 4 ฉบับ  ได้แก่ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และ มาตรา 271 ว่าด้วยอำนาจของส.ว.ต่อการติดตามการปฏิรูปประเทศ,  2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และ ยกเลิกมาตรา272 ว่าด้วยอำนาจส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ​ในบัญชีของพรรคการเมือง , 3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองความชอบของคำสั่ง ประกาศ และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่าชอบด้วยกฎหมาย และ 4.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตรา ว่าด้วยการเลือกส.ส.บัญชีรายชื่อและการคำนวณคะแนนเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งส.ส.บัญชีรายชื่อ ความเห็นของกมธ. มีสาระไปในทำนองเดียวกัน
      อาทิ ประเด็นขัดหรือไม่ขัดกับร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ที่เสนอโดยพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ความเห็นของกมธ. แบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ ไม่ขัด เพราะเป็นการแก้ไขรายมาตรา ขณะอีกแนวทางระบุว่าขัด พร้อมให้เหตุผลประกอบ คือ ซ้ำกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่พรรคฝ่ายค้านเสนอให้แก้มาตรา 256 และตั้งหมวดส.ส.ร. อีกทั้งการลงลายมือชื่อเสนอร่างแก้ไขไม่สามารถทำได้คราวละหลายฉบับ
      ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่ากมธ.ฯ​ยังให้ความเห็นต่อกรณีที่จะรับหลักการ 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับให้มีส.ส.ร. กับ ร่างแก้ไขรายมาตรา นั้น อาจทำให้เกิดอำนาจทับซ้อนกันต่อขององค์กร ที่มีหน้าที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งไม่พึงกระทำ เพราะขัดหลักการของรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด และจะมีผลย้อนแย้งในทางปฏิบัติสร้างปัญหาทางกฎหมาย และอาจมีปัญหาต่อการออกเสียงเห็นชอบและการทำประชามติของร่างแก้ไขมาตรา 256 และตั้งส.ส.ร. ได้
      นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่ว่ากรณีรัฐสภารับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และตั้งส.ส.ร. แต่ไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ส.ส.ร.ที่จัดตั้งจะมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่รัฐสภาไม่รับหลักการได้หรือไม่ กมธ.ให้ความเห็น ว่าทำได้ เพราะเป็นหน้าที่ของส.ส.ร.ที่จะแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้กมธ.ยังมีความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นยกเลิกมาตรา 270 และ 271 ว่า ไม่ควรยกเลิก แต่ควรแก้ไขเพิ่มเติมให้อำนาจการติดตามงานปฏิรูป เป็นของสภาผู้แทนราษฎร ด้วย  , การยกเลิกมาตรา 272 อาจมีปัญหาทางปฏิบัติ เพราะปัจจุบันมีประกาศ คำสั่งและการกระทำของคสช. ที่มีสภาพใช้บังคับ.