2021 : ยังไร้แสงสว่างจากปลายอุโมงค์ 

2021 : ยังไร้แสงสว่างจากปลายอุโมงค์ 

ปี 2021 แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังคงเลือนราง จากปัจจัยหลักอย่างวัคซีนโควิด-19 ที่ต้องรอการอนุมัติให้ใช้กับสาธารณชนได้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยยังปิดอย่างต่อเนื่อง การสิ้นสุดการชำระหนี้ และสถานการณ์ภายในประเทศ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยง

เข้าสู่เดือน พ.ย. ปี 2020 อันเป็นปีแห่งโรคระบาด ปีแห่งวิกฤติและความทุกข์ยากก็ใกล้จะหมดลง เป็นธรรมดาที่เราจะมองไปยังปีใหม่ที่หวังว่าจะสดใสกว่า

ในปี 2021 ปัจจัยสำคัญที่สุดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับการมาของวัคซีนเป็นหลัก ซึ่งหากมองโลกในแง่ดีที่สุดคาดว่าการอนุมัติวัคซีนให้ใช้กับสาธารณชนได้ น่าจะเป็นไปได้ในช่วงไตรมาสแรกและคาดว่าจะมีการแจกจ่ายให้พลโลกได้ภายในไตรมาสที่สาม อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าแม้วัคซีนจะได้รับการอนุมัติแล้ว ความเชื่อมั่นของผู้คนก็จะไม่กลับมาทันทีหลังจากการอนุมัติ ดังนั้นภาคบริการและเศรษฐกิจทั่วโลกจะยังคงชะลอตัวกว่าที่เคยคิดไว้

ภาพนี้สอดคล้องกับมุมมองของ IMF ที่ปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2021 ลดลงเหลือ 5.2% จากเดิม 5.4% โดยมองว่าเศรษฐกิจโลก ณ สิ้นปี 2021 จะอยู่ระดับเดียวกับปี 2019 โดยจีนจะเป็นประเทศใหญ่ที่เดียวที่ดึงเศรษฐกิจโลกไว้ ขณะที่ระดับเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่รวมถึงสหรัฐจะต้องชะลอตัวจนถึงปี 2022 เป็นอย่างน้อยจึงจะฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ 

ดังนั้นเศรษฐกิจในปี 2021 จะถูกจำกัด ด้วย 3 ปัจจัย อันได้แก่ 1.การขยายตัวจะต่ำลง โอกาสที่จะฟื้นในระดับ 4-5% เป็นไปได้ยาก โดยรูปแบบการฟื้นตัวจะคล้ายเครื่องหมายไนกี้ แต่อ่อนแอและขรุขระกว่า 2.นโยบายเศรษฐกิจเชิงกระตุ้นจะลดลง โดยนโยบายการคลังจะเริ่มกังวลเรื่องหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณมากขึ้น ขณะที่การเงินจะกังวลเรื่องภาวะฟองสบู่และพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงในการลงทุน (Moral Hazard) อันเป็นผลจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำมากขึ้น และ 3.ความเสี่ยงมีมากขึ้น ทั้งการเมืองในสหรัฐ ยุโรป รวมถึงประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐ (โดยเฉพาะในประเด็นไต้หวัน) และภาวะภูมิอากาศผันผวนอันเป็นผลจากภาวะโลกร้อน

ในส่วนของประเทศไทยดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวหลังจากหดตัวรุนแรงในไตรมาสที่สอง เช่น ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน การส่งออกและรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามในไตรมาส 4 เรายังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงและมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ใน “หลุมดำ” เนื่องจากปัจจัย 3 ประการ ได้แก่

1.การปิดภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้รัฐบาลไทยไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศในระดับเดียวกับก่อนหน้า

2.การสิ้นสุดการเลื่อนการชำระหนี้ “บางส่วน” แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้ที่ครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค. เป็นรายกรณี แต่เราเชื่อว่าประมาณ 10% ของผู้ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะมีปัญหาทางการเงิน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการโดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว กระทบต่อรายได้และการจ้างงาน และ

3.สถานการณ์ภายในประเทศ โดยเหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน อาจทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง กระทบต่อการบริโภค การลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของสถานการณ์เป็นหลัก

ภาวะปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในไตรมาสที่ 4 นี้จะเป็นดั่ง “หลุมดำ” กระทบต่อเศรษฐกิจไทย แม้รัฐบาลและ ธปท. จะมีมาตรการในการรวมและปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงช่วยภาคเศรษฐกิจที่ประสบปัญหา เช่น ตลาดแรงงาน ภาคการท่องเที่ยว และการบริโภครากหญ้าผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน เพิ่มเงินบัตรสวัสดิการ โครงการคนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน ก็อาจสามารถกระตุ้นการบริโภคได้ในระดับหนึ่ง แต่เราเชื่อว่าปัจจัยเชิงมหภาคจะมีอิทธิพลฉุดรั้งเศรษฐกิจมากกว่า ทำให้ประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆ ลดลง

ดังนั้นในปี 2021 ภูมิลักษณ์เศรษฐกิจไทยนั้นจะประกอบด้วยภาวะความแตกต่าง 3 ประการ คือ

1.เศรษฐกิจระหว่างประเทศกับในประเทศ โดยภาวะ COVID ที่ลากยาวนั้น จะทำให้เศรษฐกิจที่พึ่งพิงต่างประเทศ เช่น การท่องเที่ยวและการส่งออกนั้น ยังถูกกดดัน ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศ เช่น การบริโภคเอกชนและการลงทุนภาครัฐ จะฟื้นตัวได้บ้างตามมาตรการการคลัง (แต่ก็เผชิญความเสี่ยงจากเหตุการณ์ภายในประเทศหากสถานการณ์ลากยาว)

2.ภาคการผลิตกับภาคบริการ โดยภาคบริการจะยังถูกกดดันจากการท่องเที่ยวและความกังวลของผู้บริโภค (Consumer risk-averse) ทำให้จะยังหดตัวหรือเติบโตต่ำ ขณะที่ภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคเกษตรจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ตามความต้องการซื้อสินค้าไม่คงทน (Non-durable) ที่จะเริ่มกลับมาบ้างตามการบริโภค รวมถึงภาวะ La Nina ที่ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรออกมาดี

3.นโยบายการเงินและการคลัง โดยการคลังจะเห็นการอัดฉีดที่เพิ่มขึ้น ที่จะกระตุ้นอารมณ์การบริโภคต่อเนื่องได้บ้าง อย่างน้อยในครึ่งปีแรก และจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ (หวังว่า) จะเพิ่มขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินจะหันมาเป็นกองหลังเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กังวลผลข้างเคียงจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำ  

ด้วยภาพเช่นนี้ มุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2021 จะเป็นปีแห่ง 4-3-2-1 โดย

4% คือระดับการเติบโตของการบริโภค ที่ถูกฉุดขึ้นจากสินค้าไม่คงทนเป็นหลัก (รวมถึงการฟื้นตัวของสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ รถกระบะ บ้าง)

3% คือการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่จะต่ำกว่ารูปแบบการฟื้นตัวปกติที่ควรจะเป็นอย่างน้อย 5%

2% คือการฟื้นตัวของการลงทุนเอกชนและปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ โดยการลงทุนฟื้นตัวได้น้อยเนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่เชื่อมั่น และกำลังการผลิตส่วนเกินยังอยู่สูง ขณะที่ปริมาณการส่งออกถูกกดดันด้วยโรค COVID ที่ยังทำให้การส่งออกและท่องเที่ยวอ่อนแอ และ

1% คือภาวะเงินเฟ้อที่อาจฟื้นตัวได้ในระดับ 0.6-0.7% ตามราคาน้ำมันโลกที่อาจฟื้นขึ้นมาบ้างแต่ไม่มากนัก ขณะที่ความต้องการนำเข้ายังอยู่ระดับต่ำจากการลงทุนเอกชนที่อ่อนแอ ทำให้บัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลค่อนข้างสูง บาทยังคงแข็งค่า ซึ่งจะกดดันทำให้เงินเฟ้อต่ำกว่าที่ควรจะเป็นด้วย

เมื่อพิจารณาถึงภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจโลกและของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้จะเห็นได้ว่าภูมิทัศน์ดังกล่าวไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก ดังนั้นนักลงทุนควรระมัดระวังอย่างยิ่งต่อไป 

ในปี 2021 แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังคงเลือนราง นักลงทุนทั้งหลาย โปรดเพิ่มความระมัดระวัง