'ชวน หลีกภัย' บารมีล้นสภา ตั้งกรรมการฝ่าวิกฤติชาติ

'ชวน หลีกภัย' บารมีล้นสภา ตั้งกรรมการฝ่าวิกฤติชาติ

ประธานรัฐสภา ชื่อ 'ชวน หลีกภัย' กำลังจะเป็นคีย์แมนคนสำคัญ ภายหลังเสียงจากที่ประชุมสภาสมัยวิสามัญสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยต้องการให้ผู้อาวุโสรายนี้เป็นเจ้าภาพ

ชื่อของ 'ชวน หลีกภัย' ดูเหมือนจะเป็นประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เหมาะกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้งเป็นอย่างยิ่ง เพราะคงดูไม่จืด หากตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นโควตาของพรรคพลังประชารัฐ 

ต้องยอมรับว่า นอกเหนือจากเงื่อนไขทางการเมืองเกี่ยวกับการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์จะทำให้ 'ชวน' ได้กลับมาเป็นประธานสภาฯ อีกครั้งแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่ง คือ บารมีทางการเมือง  โดยเมื่อครั้งมีการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ขัดข้อง หากจะมีประธานสภาฯ ที่มาจากต่างพรรคการเมือง เพราะมองเห็นถึงข้อดีของมีประธานสภาฯ ชื่อ 'ชวน' ที่จะทำให้สภาฯ ไม่เป็นสนามรบเหมือนกับในอดีต  

อย่างน้อยที่สุด ก็จะไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา อีกทั้ง 'ชวน' ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกลเพราะมีสายสัมพันธ์อันดีกับกองทัพ ตั้งแต่เมื่อครั้ง นายกฯ ชวนได้ควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม 

รัฐสภาภายใต้การคุมบังเหียนของประธานสภาฯกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ถูกฝาถูกตัว เพราะมีหลายๆ เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ แต่ก็สามารถยุติลงได้  สถานการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงบารมีครั้งสำคัญของประธานสภาฯ คือ การเปิดประชุมสภาฯ เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับการถวายสัตย์ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญของ พล.อ.ประยุทธ์  

เวลานั้น 'ประธานชวน' ถูกกดดันอย่างหนักจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องการให้สภาฯ ถอนวาระนี้ออกไป ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องขอให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการถวายสัตย์ โดยพยายามอ้างว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นที่สุด และผูกพันทุกองค์กร

แต่ปรากฎว่า 'ชวน' ในฐานะประธานสภาฯ กลับมีความเห็นที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ประธานชวน ให้ความเห็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไม่ได้เป็นการวินิจฉัยที่มีผลผูกพันทุกองค์กร เพราะการจะเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ จะต้องมีองค์ประกอบครบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อตรวจสอบจากการไม่รับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ได้มีลักษณะของการเป็นคำวินิจฉัยแต่อย่างใด  ด้วยเหตุนี้สภาฯ จึงสามารถอภิปรายในประเด็นนี้ต่อไปได้จนจบ และทุกฝ่ายโดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านก็สิ้นสงสัยและไม่ติดใจใดๆ อีก 

จากเหตุการณ์ตรงนั้นเอง ทำให้ฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรค ค่อนข้างเกรงใจประธานสภาฯ หลายครั้งที่ประธานชวนขึ้นทำหน้าที่คุมการประชุมก็จะยอมรับคำวินิจฉัย โดยไม่มีเงื่อนไข เช่นเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ก็ค่อนข้างอ่อนให้กับนายหัวชวน จึงส่งผลให้การประชุมสภาฯ ไม่ค่อยปรากฎเหตุวิวาทบานปลายมากนัก 

มาถึงวันนี้ กำลังจะมีบทพิสูจน์บารมีจากพรรษาทางการเมือง 50 ปีของ 'ชวน หลีกภัย' อีกครั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากข้อเสนอของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.ที่ต้องการให้ประธานรัฐสภาตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหาทางการเมือง 

ในอดีตเคยมีประธานรัฐสภาสองคน ที่ตั้งคณะกรรมการในลักษณะนี้ เริ่มที่ ‘มารุต บุนนาค’ ได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ผลงานของคณะกรรมการชุดนี้มีรายงานออกมาทั้งหมด 11 เรื่อง และกลายเป็นต้นแบบของการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 หนึ่งในรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดฉบับหนึ่ง 

อีกคนคือ ‘ชัย ชิดชอบ’ ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2552 ก็ได้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี ‘ดิเรก ถึงฝั่ง’ ส.ว.นนทุบรี ในขณะนั้นเป็นประธาน บทสรุปของคณะกรรมการชุดนี้ หากเทียบกับคณะกรรมการของหมอประเวศ ไม่ได้โดดเด่นมากนัก เพราะมีเพียงข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางประเด็น เช่น การยุบพรรคการเมือง และการเลือกตั้ง ส.ส.  

สถานการณ์ทางการเมืองที่ประธานชวนกำลังเผชิญในวันนี้ มีความแตกต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึก และยังมีประเด็นละเอียดอ่อน ที่ทำให้มีการสวมเสื้อเหลืองออกมาแสดงพลังรวมอยู่ด้วย การนำหรือไม่นำเอาประเด็นนี้เข้ามาพูดในสภาฯ ล้วนเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง 

แต่ภายใต้สภาพบรรยากาศเช่นนี้ หากจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสักชุด เพื่อหาทางออกเรื่องการเมือง ‘ชวน หลีกภัย’ เหมาะจะเป็นเจ้าภาพมากที่สุด เพราะไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร  จึงได้แต่หวังว่า คณะกรรมการชุดนี้ เมื่อได้ตั้งขึ้นมา และทำงานแล้ว จะไม่วนในอ่างเหมือนกับสารพัดคณะกรรมการที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยตั้งมาก่อนในอดีต