โปรแกรมเวชสำอาง สวทช.ดันแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลกด้วยนวัตกรรม

โปรแกรมเวชสำอาง สวทช.ดันแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลกด้วยนวัตกรรม

โปรแกรมเวชสำอาง สวทช.ดันแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลกด้วยนวัตกรรม จัดอบรมการวิเคราะห์ทดสอบ เพิ่มทักษะผู้ประกอบการไทย

โปรแกรมเวชสำอาง โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดอบรม “Efficacy Testing of Anti-Aging Products in Ex Vivo Human Skin Models & Clinical Testing” ในผู้ประกอบการกลุ่มเวชสำอางและเสริมอาหาร นำเสนอข้อมูลการตลาดและนวัตกรรมของไทยด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย โดยเฉพาะการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ สวทช. หวังดันแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลกด้วยนวัตกรรม

ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย Super Manager โปรแกรมเวชสำอาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สภาวะชราหรือ Aging เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้เราดูไม่สวยงาม แต่สภาวะชราเป็นตัวเร่งให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย เช่น โรคหัวใจ สมองเสื่อม มะเร็ง เป็นต้น ทำให้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีขนาดตลาดที่ใหญ่และเติบโตอย่างต่อเนื่อง

160380510773

“แนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่มชะลอวัยมีการคาดการณ์ถึงความต้องการนวัตกรรมขั้นสูง ที่สามารถใช้อธิบายกลไกและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ กลายเป็นโจทย์หลักของผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น” ดร.อุรชากล่าว

จากข้อมูลอ้างอิงของ Frost & Sullivan และ Euromonitor พบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชะลอวัยมีมูลค่าตลาดทั่วโลกประมาณ 30-50 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560 และมีการเติบโตคาดการณ์ที่ 5-7% ระหว่างปี 2560-2565 สำหรับในประเทศไทยนั้น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชะลอวัยมีขนาดตลาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 34,264 ล้านบาทในปี 2559 และมีอัตราการเติบโตคาดการณ์ในช่วงปี 2559-2564 สูงถึง 7.1% และในทำนองเดียวกัน สารออกฤทธิ์ชะลอวัย (anti-aging ingredient) มีขนาดตลาดทั่วโลก 592 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 และคาดการณ์ว่า จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปถึง 1,040 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยคิดเป็น 10.1% ซึ่งถือว่าเติบโตเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มสารออกฤทธิ์ทั้งหมด

ดร.ธวิน เอี่ยมปรีดี นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการทีมวิจัยความปลอดภัยระดับนาโนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโนขั้นสูงและความปลอดภัย นาโนเทค เผยว่า การเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรธรรมชาติ ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง จำเป็นต้องอาศัยงานวิจัยและข้อมูลจากการทดสอบอย่างลงลึก ซึ่งทีมวิจัยนาโนเทคจะสามารถช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ โดยพัฒนาโมเดลการวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพและความปลอดภัย ภายใต้แนวคิด ลึก ล้ำ และโกอินเตอร์ คือ เน้นการทดสอบแบบลงลึก ล้ำด้วยองค์วามรู้สมัยใหม่ และผลการทดสอบจากเราต้องน่าเชื่อถือ บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องให้การยอมรับ และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำสารออกฤทธิ์หรือ ผลิตภัณฑ์ไปขายยังต่างประเทศได้

160380512946

อย่างไรก็ดี ดร.ธวินชี้ว่า ปัญหาหลักของการผลักดันผลิตภัณฑ์กลุ่มชะลอวัย คือ การขาดข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์เพื่อรับรองประสิทธิภาพ รวมถึงขาดห้องปฏิบัติการที่ทดสอบฤทธิ์ด้านนี้โดยตรง ซึ่งในการทดสอบฤทธิ์ด้านชะลอวัยนั้น เราต้องศึกษาถึง เสาหลักทั้ง 9 ที่ทำให้เกิดสภาวะชรา หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “Aging hallmarks” ซึ่งเป็นรากที่ทำให้เกิดการแก่ชรา ตัวอย่างของเสาหลักเช่น การเสียสภาพของสารพันธุกรรม, การหดสั้นลงของปลายโครโมโซม, การสูญเสียข้อมูลเอพิจีโนม (epigenome), การเสียสภาพของแหล่งพลังงานเซลล์ (ไมโทคอนเดรีย), สภาวะชราระดับเซลล์, และ การอักเสบจากสภาวะชรา เป็นต้น ซึ่งทางทีมวิจัยเราได้พัฒนาระบบทดสอบประสิทธิภาพชะลอวัย โดยทดสอบการย้อนกลับของเสาหลักดังกล่าว โดยใช้โมเดลในรูปแบบ เซลล์ผิวหนังแก่จากผู้ใหญ่ 2 มิติ และเนื้อเยื่อผิวหนังมนุษย์แบบ 3 มิติ

ดร.วันนิตา กลิ่นงาม นักวิจัยนาโนเทค กล่าวเพิ่มเติมว่า โมเดลการทดสอบฤทธิ์ชะลอวัยโดยใช้ชิ้นส่วนผิวหนังมนุษย์จากผู้สูงอายุ (aged ex vivo skin model) เป็นการต่อยอดมาจากงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ จนได้กระบวนการทดสอบที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นระบบทดสอบคล้ายคลึงกับที่บริษัทรับทดสอบชั้นนำระดับโลกใช้กัน โดยทีมวิจัยได้พัฒนาวิธีการทดสอบประสิทธิภาพด้านชะลอวัยหลายวิธี เช่น การกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน การทดสอบการลดริ้วรอย และการต้านการอักเสบที่เกิดจากสภาวะชรา เป็นต้น ที่จะเปิดรับวิเคราะห์ทดสอบในช่วงปลายปี 2563 ช่วงแรกจะเป็นการใช้โมเดลชิ้นส่วนผิวหนังจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้ทดสอบในระดับสากลมาใช้ก่อน แต่เนื่องจากราคาสูง ทางทีมวิจัยจึงเริ่มพัฒนาเทคนิคการเตรียมโมเดลขึ้นมาเอง โดยใช้ชิ้นส่วนผิวหนังของอาสาสมัครที่เหลือจากการผ่าตัดศัลยกรรมพลาสติกจากโรงพยาบาลภายในประเทศ ทำให้ระบบทดสอบที่มีราคาถูกลงหลายเท่าตัว แต่ยังคงอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

    160380516028     

นอกจากการทดสอบด้านประสิทธิภาพแล้ว ยังมีการทดสอบด้านความปลอดภัย เพื่อทดสอบความเป็นพิษของสารออกฤทธิ์และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางตามแนวทางของ OECD ซึ่งปัจจุบัน นาโนเทคเปิดรับผู้ประกอบการเพื่อร่วมวิจัยด้านความปลอดภัยแล้ว โดยเน้นการทดสอบตามข้อกำหนดของ อย. ได้แก่ การระคายเคืองผิวหนัง, การกระตุ้นให้เกิดการแพ้, ความเป็นพิษต่อสารพันธุกรรม, ความเป็นพิษจากการกระตุ้นด้วยแสง รวมถึง การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันในตัวอ่อนปลาม้าลาย

       ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ภญ.จารุภา วิโยชน์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, รศ.ดร.ภญ.มยุรี กัลยาวัฒนกุล, รศ.ดร.ณัฐยา เหล่าฤทธิ์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ Dr.Nikita Radionov, Subsidiary and Technical-commercial Actions Manager จาก Laboratoire BIO-EC ประเทศฝรั่งเศส มาให้ข้อมูล และยังเปิดให้ผู้ประกอบการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เห็นตัวอย่างขั้นตอนในการทดสอบทั้งในระดับเซลล์ 2 มิติ, ชิ้นส่วนผิวหนัง, และการทดสอบในมนุษย์ด้วยตนเองอีกด้วย