‘โควิด’ ดันปัญหาคนจนทั่วโลกรุนแรงขึ้น ธนาคารโลกห่วงกลุ่มเกษตรกรไทย

‘โควิด’ ดันปัญหาคนจนทั่วโลกรุนแรงขึ้น ธนาคารโลกห่วงกลุ่มเกษตรกรไทย

“ธนาคารโลก” ระบุโควิดดันปัญหายากจนทั่วโลกรุนแรงขึ้น ห่วงกลุ่มเกษตรกรไทยรายได้ไม่มั่นคง TDRI ห่วงโควิดกระทบเศรษฐกิจ ดึงปัญหาคนจนยาวถึงปี 65 แนะ ศบศ.-ศบค.เร่งสรุปเปิดรับท่องเที่ยวต่างชาติ ห่วงยิ่งช้าฉุดเศรษฐกิจ

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยธนาคารโลก ประจำประเทศไทย จัดสัมนาหัวข้อ "วันยุติความยากจนปี 2020 : กลุ่มเปราะบางรับมือโควิด-19 อย่างไร เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2563 เพื่อสรุปปัญหาความยากจนที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้

ดร. Birgit Hansl Country Manager ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาสำคัญของโลกให้มีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการหดตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้กิจการและธุรกิจต้องปิดกิจการ เกิดการตกงานและลดลงของรายได้จำนวนมากทำให้ความยากจนถอยหลังไปอีก 5-10 ปี

โดยประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ธนาคารโลกมองว่าได้รับผลกระทบมากที่สุดในอาเซียนเนื่องจากมีโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกมากในสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศได้รับผลกระทบมากภาครัฐยังคงต้องเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจ โดยขณะนี้ 2 ประเทศที่ภาครัฐสามารถทำได้ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ คือ จีนและเวียดนาม ที่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างมากทำให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวได้

นาย Nadia Belhaj Hassine Belghith นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านความยากจน ธนาคารโลก กล่าวว่า ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการลดจำนวนผู้ยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจนลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2531 โดยลดลงจาก 65.2% ลดลงเหลือ 9.85% ในปี 2561 อย่างไรก็ตามพบว่าแม้ปัญหาความยากจนยังคงกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดที่มีความยากจนมานานได้แก่ จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส จ.ตาก และจ.แม่ฮ่องสอน ที่มีสัดส่วนคนจนในจัังหวัดประมาณ 29-49%

ทั้งนี้เมื่อดูข้อมูลการสำรวจรายได้ของกลุ่มคนยากจนพบว่ามีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาโดยในช่วงก่อนปี 2543 รายได้มาจากการเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในช่วงปี 2543-2556 รายได้ของครัวเรือนมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตร

แต่ในช่วงปี 2558-2560 รายได้ของครัวเรือนยากจนมาจากการเติมเงินและให้สวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการสังคมของรัฐบาล แสดงให้เห็นว่าในช่วงหลังความสำเร็จของการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทยมาจากโครงการของรัฐ ซึ่งหากไม่มีโครงการเหล่านี้จำนวนผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน

“ความยากจนที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาในไทยไม่ใช่เป็นเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เป็นผลมาจากนโยบายรัฐในเรื่องสวัสดิการต่างๆ ซึ่งเมื่อเกิดโควิด-19 รายได้ของกลุ่มคนเปราะบาง เช่น ภาคเกษตรที่รายได้ไม่มั่นคงอยู่แล้วก็จะสั่นคลอนมากขึ้น และรายได้ลดลงมากขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้นทำให้คนจนที่สุด (Extreme poor) อาจเพิ่มจาก 6% เป็น 9%”

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลความยากจนของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จากข้อมูลเบื้องต้นทีดีอาร์ไอพบว่า คนยากจนในประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 และปัญหาความยากจนที่เพิ่มขึ้นจะยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 

ทั้งนี้กลุ่มคนเปราะบางที่มีรายได้น้อยมากอยู่แล้วยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลจากการปิดและหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้รายได้หายไปมาก

โดยเฉพาะแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่สูญเสียรายได้หลายเดือน ซึ่งทางออกต้องการสร้างความชัดเจนในเรื่องของการเปิดประเทศที่รัฐบาลต้องสื่อสารให้ดีว่าเรามีความสามารถที่จะจัดการและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศได้ โดยไม่ให้มีการแพร่กระจายในวงกว้าง (Super spreader) เกิดขึ้นในประเทศ 

“วันนี้เราอาจเป็นเหยื่อของความสำเร็จของตัวเองในการแก้ปัญหาโควิด-19เพราะเราคุมโควิดได้แต่เศรษฐกิจนั้นลงฟื้นตัวได้ยาก ผมเคยถามคนในรัฐบาลว่าระหว่าง ศบค. กับ ศบศ. เคยคุยกันหรือไม่ว่าตกลงจะมีความชัดเจนในการเปิดประเทศอย่างไร เพราะคนที่เป็นแรงงานในภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาก อย่างไรโควิดก็ยังต้องอยู่กับเรา ถ้าสร้างความชัดเจนตรงนี้ได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและบรรเทาปัญหาความยากจนลงได้” นายสมชัย กล่าว

สำหรับมาตรการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีการออกมาตรการระยะสั้นจำนวนมากทั้งมาตรการการเงินและการคลัง แต่มาตรการส่วนนี้บางส่วนลงไปไม่ตรงจุด เช่น มาตรการที่จ่ายเงินลงไปให้กับคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากการสำรวจพบว่ามีกว่า 52% ที่ได้เงินโดยไม่ได้เป็นคนจนอย่างแท้จริง ขณะที่คนที่เป็นคนจนจริงๆอีกกว่า 30 - 40% เข้าไม่ถึงสวัสดิการนี้ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ความยากจนทวีความรุนแรงมากขึ้นได้ 

ส่วนการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท พบว่ายังมีความล่าช้าในการอนุมัติโครงการและการใช้จ่ายเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้มีการอนุมัติโครงการไปประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่ความล่าช้าส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นปัญหาจากข้อเสนอโครงการที่หน่วยงานต่างๆที่เสนอเข้ามาเสนอโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงประเทศในระยะยาวทำให้คณะกรรมการใช้เวลาค่อนข้างมากในการพิจารณาโครงการ 

“ไทยยังค่อนข้างมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูประเทศและปรับโครงสร้างหลังโควิด-19 ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างทักษะใหม่ๆที่จำเป็นสำหรับอนาคตของแรงงานในยุคนิวนอร์มอลด้วย”นายสมชัย กล่าว