เอกชนหนุน“เอฟทีเอ-ยูเค” ผวาเบร็กซิทป่วนการค้าโลก

เอกชนหนุน“เอฟทีเอ-ยูเค”  ผวาเบร็กซิทป่วนการค้าโลก

เอกชนเตรียมพร้อมรับมือ Brexit หวั่นค่าเงินผันผวน แนะรัฐคุมค่าบาท เร่งทำ เอฟทีเอ กับUK ดันมูลค่าเพิ่มส่งออกสินค้าเกษตร

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 สหราชอาณาจักร (UK)จะต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) อย่างเป็นทางการ หรือที่เรียกว่า Brexit  ซึ่งจะนำไปสู่ภูมิศาสตร์การค้าโลกกำลังขยับเพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพื่อให้เข้าใจและเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดสัมมนา "Brexit the Series โอกาสดีๆที่ผู้ส่งออกสินค้าไทยต้องรู้”

ดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ไทยและUK กำลังดำเนินการรวมกันว่าด้วยการทบทวนนโยบายการค้าระหว่างกันหรือ Joint Trade Policy Review  ( Joint TPR)  เพื่อปูทางไปสู่การเจรจาการค้าในรูปแบบข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)

สาระสำคัญเบื้องต้นสองฝ่ายนำเสนอสินค้าและบริการที่สนใจเพื่อทำตลาดซึ่งกันและกัน โดยฝ่ายไทยได้แก่ เกษตรกรรมและการผลิตอาหาร การประมง การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตภัณฑ์ยาง การท่องเที่ยว การขนส่ง การให้บริการทางการเงิน การโทรคมนาคมและการก่อสร้าง ส่วนUK ต้องการเปิดตลาดสินค้าในไทย คือ เทคโนโลยีทางการเกษตร เครื่องดื่ม การศึกษา การให้บริการทางการเงิน การดูแลสุขภาพและเภสัชกรรม บริการวิชาชีพ เทคโนโลยี และการผลิต

"หลังBrexitจะเกิดความสับสน ผันผวนหลายอย่าง เช่นเราไม่เคยเห็นเงินปอนด์เท่ากับดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่รวมกฎระเบียบต่างๆและอัตราภาษี ดังนั้น การทบทวนการค้าให้ชัดเจนสองฝ่ายก่อนเดินหน้าความสัมพันธ์ต่อ จึงจำเป็นและJoint TPRคาดว่าจะนำเสนอในการประชุมระดับรัฐมนตรีได้สิ้นปีนี้"

160380234787

ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยยังมีอุปสรรคสำคัญ 2 ปัจจัยได้แก่ ค่าเงินบาทพบว่าเงินบาทไทยแข็งค่ามากทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้  ยังมีปัจจัยจากการขาดแต้มต่อการแข่งขันอันเกิดจากการมีข้อตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ เนื่องจากการเสียภาษีเท่ากับหรือน้อยกว่าคู่แข่งจะทำให้การแข่งขันของไทยดีขึ้น

ในส่วนของข้อตกลงกับUKประเมินว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าของไทยเพราะUK เป็นเทรดดิ้งเนชั่นที่สำคัญของยุโรป เป็นผู้นำเข้ารายสำคัญของภูมิภาค หากไทยมีแต้มต่อผ่านเอฟทีเอกับUKจะทำให้การส่งออกของไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

สำหรับการเจรจาเอฟทีเอกับUK หากการเจรจาสำเร็จ ประเมินคราวๆ ว่า สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น กุ้ง ปลา ไก่ ยาง ผัก ผลไม้ อาหารสำเร็จรูป จะทำให้การส่งออกในปีแรกนั้นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก 1-1.5 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ราคาเกษตรไทยปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งตัวเลขที่ประเมินเป็นแค่เบื้องต้นเพราะอาจมีมูลค่าส่งออกที่มากกว่านี้และอาจทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารติด 1 ใน 10 ของโลกภายใน 1-2 ปี ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งคือ จะทำให้การเจรจาเอฟทีเอกับEUทำได้ง่ายมากขึ้นด้วย

“สงครามการค้าและโควิด-19 จะยังอยู่กับไทยและโลกต่อไป แต่การผลักดันการบริโภคภายในประเทศไม่สามารถพยุง และผลักดันเศรษฐกิจของไทยได้ ดังนั้นการค้าระหว่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการส่งเสริม และเอฟทีเอกับUKจะเป็นแต้มต่อการแข่งขันที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร”

 

ขณะที่เรื่องของการลงทุน ก็จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์มากในอุตสาหกรรมต่างๆเพราะต้องยอมรับว่าUK เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี โนว์ฮาวต่างๆ มีงานวิจัยจำนวนมาก ซึ่งการที่มีเอฟทีเอไทย-ยูเค จะทำให้อุตสาหกรรมต่างๆของไทยสามารถพัฒนาได้พัฒนามากขึ้นสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ไม่ว่าจะเป็น เช่น อุตสาหกรรมยา แม้จะมีประเด็นสิทธิการใช้สิทธิบัตรเหนือสิทธิบัตร(CL) ที่ยังไม่ตรงกันก็ตาม แต่เรื่องเหล่านี้ต้องหารือกันให้เกิดความชัดเจนเพื่อปูทางสู่ความร่วมมือทั้งทางวิชาการและการลงทุนในอนาคต

“ดูจากการที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จับมือกับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ พัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 คาดว่าน่าผลิตได้เร็วและราคาถูก นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมยาง เครื่องบิน ยานยนต์ ยางล้อเครื่องบิน ซึ่งการลงทุนจากUKจะสร้างห่วงโซ่อุปทาน และสร้างมูลค่าได้ยาวนานซึ่งทั้งหมดจะได้มาจากข้อตกลงการค้านั่นเอง”

คึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า การที่UKออกจากEU คงต้องดูขั้นตอนการนำเข้าไก่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทั้งเรื่องภาษีนอกและในโควตา รวมถึงการมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า UK จะนำเข้าไก่จากประเทศไหน เช่น จีน บราซิล ซึ่งผลกระทบก็ยังไม่ชัดเจน ระยะต่อไปอาจมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น มาตรการสุขอนามัย สิ่งแวดล้อมการตรวจโรงาน เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ทางUKจะมีความเข้มงวด ไม่แตกต่างมากนักกับการนำเข้าไก่ไปEU