‘ระบบอาหาร' อินทรีย์ ทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดี

‘ระบบอาหาร' อินทรีย์ ทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดี

ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารดีๆ เป็นครัวของโลก แต่ทำไมคนไทยมีสุขภาพไม่ดี เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NSDs)

"ในอดีตคนไทยเคยมีภาวะขาดแคลนอาหาร ถึงกับกินดิน แต่ปัจจุบันปัญหาของเราคือ เข้าไม่ถึงอาหารปลอดภัย ทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NSDs)" นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ชวนคิดในงานเสวนาเรื่อง"การเปลี่ยนแปลงของระบบอาหาร ปัจจัยสังคม(เมือง)กำหนดสุขภาพ และการลดโรค NSDs"

      เพราะระบบอาหารมีความเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงแหล่งที่มาของอาหาร สถานที่จำหน่าย ผู้จัดหา การขนส่ง การเข้าถึงตลาดของผู้บริโภค กฎหมายและการกำกับดูแล ไปจนถึงการบริหารจัดการที่ดี

  • ระบบอาหารในเมือง

วงจรระบบอาหารที่ผ่านมาเกษตรกรขายพืชผลทางการเกษตรให้พ่อค้าคนกลาง จากนั้นพวกเขาส่งต่อให้พ่อค้าปลีกจนไปถึงมือผู้บริโภค ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นเกษตรกรรวมกลุ่มกัน ขายตรงให้ผู้บริโภค มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลดการผลิตล้นตลาด มีมาตรฐาน GAP (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี Good Agricultural Practices : GAP) แนวทางทำการเกษตรให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด  

และเป็นไปตามหลักการ IFOM (สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ International Federation of Agriculture : IFOM) ที่นิยามเกษตรอินทรีย์ว่าเป็น ระบบการเกษตรที่ผลิตอาหารและเส้นใยด้วยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เน้นการปรับปรุงบำรุงดิน เคารพศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และนิเวศการเกษตร ลดใช้ปัจจัยการผลิตภายนอก หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ประยุกต์ใช้ธรรมชาติเพิ่มผลผลิตพัฒนาความต้านทานโรคของพืชและสัตว์

"นิยามความมั่นคงทางด้านอาหารของ FAO (องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ Food and Agriculture Organization of the United Nationsคือ มนุษย์ทุกคนทุกเวลาจะต้องสามารถเข้าถึงอาหารในปริมาณที่เพียงพอและมีคุณภาพ ทำให้คนได้รับอาหารปลอดภัยมีโภชนาการดีและมีสุขอนามัยดี แต่ปัญหาที่ยังอยู่ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ ต้นน้ำ เกษตรกรใช้สารเคมี, กลางน้ำ มีการผลิตและแปรรูปโดยใช้สารเคมี, ปลายน้ำ ผู้บริโภคบริโภคน้ำตาลเกลือไขมันมากเกินไป จึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นโรคอ้วน เบาหวาน มะเร็ง ทั้งคนจนคนรวยเป็นเหมือนกัน" รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าว

ทางด้าน ทพญ. จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่ทำงานด้านนี้ บอกว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญ

"ทั้ง ๆ ที่บ้านเราเป็นประเทศที่ผลิตผักผลไม้ แต่คนไทยยังบริโภคผักผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ เราทำได้แค่ 1 ใน 3 เท่านั้น สาเหตุหลักเพราะคนกลัวสารเคมีจึงบริโภคน้อย"

ว่ากันว่า การผลิตอาหารปลอดภัยในโรงเรียนมีมานานกว่า 10-20 ปี มีการส่งเสริมให้นักเรียนปลูกผัก เลี้่ยงไก่ มีการจัดสมัชชาความมั่นคงด้านอาหารให้นักเรียนบริโภคอาหารอินทรีย์เป็นความพยายามเปลี่ยนประเทศไทย แต่บางโรงเรียนต้องนำเข้าผักจากจังหวัดอื่นถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่จังหวัดนั้นเป็นแหล่งเกษตรอินทรีย์

"ปัญหาอยู่ที่การจัดซื้อจัดจ้างที่ทำไม่ได้ ผิดระเบียบราชการ โรงเรียนต้องไปเปิดวิสาหกิจชุมชนเพื่อแก้ปัญหา และใช้เวลาปีกว่าๆ เพื่อเชื่อมอาหารในชุมชนเข้าสู่โรงเรียน ในต่างประเทศรัฐบาลมีระบบอุดหนุนราคา ทำให้เข้าถึงสินค้าปลอดภัยได้มากขึ้น เมื่อคนขายได้รับการลดหย่อนภาษี ก็มีแรงจูงใจปลูกผักอินทรีย์มากขึ้น"

 

  • สุขภาพดี คือแรงจูงใจ

ในพื้นที่การเกษตรแทบทุกแห่ง เกษตรกรจะแยกแปลงปลูกขายกับแปลงปลูกไว้กินเอง เพราะแปลงปลูกไว้ขายจะใส่สารเคมีมาก จนคนปลูกไม่กล้ากิน

"เวลาจัดประชุมสัมมนาจะแจกเมล็ดพืชให้คนในชุมชน 22 แห่ง เพื่อนำไปปลูกกินเอง เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ถ้าอยากสุขภาพดีต้องหัดกินผักปลอดสารพิษ ตอนแรกเทศบาลเรามีคนเป็นโรค NCDs สูงมาก แต่หลังจากปลูกผักกินเองก็มีคนไข้ลดลง" พิเชษฐ กล้าสุคนธ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับชุมชน ตำบลนาฝาย อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น

"เมื่อก่อนตำบลเรามีคนอายุ 70-100 ปี แต่ตอนนี้อายุ 50 ปีก็จากไปแล้ว เพราะเขาใช้สารเคมีปลูกพืช แล้วจะทำอย่างไรให้ตำบลเราปลอดสารเคมี แรงจูงใจคือ ต้องทำให้เขามีรายได้ จึงร่วมมือกับผู้ประกอบการจากอเมริกาสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกกัญชง ทำในรูปแบบวิสาหกิจ ทำแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ชาวบ้านก็มีรายได้ เคยเห็นในประเทศญี่ปุ่น พวกเขาจะเอาผลผลิตเกษตรมาแข่งกัน คนไหนปลูกแบบเกษตรอินทรีย์สำเร็จ รัฐบาลจะให้รางวัลเป็นเงินช่วยเหลือ" ประกิต ทองแท่งไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาฝาย อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น กล่าว

160379386293

โอฟาร ธีระสถิตชัย ตัวแทนจาก Farm To ชุมชนออนไลน์

การรอภาครัฐให้มาช่วยเหลือ อาจไม่ทันการ เอกชนก็สามารถจัดการได้ โอฬาร ธีระสถิตชัย ตัวแทนจากกลุ่ม Farm To ชุมชนออนไลน์เชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภค กล่าวว่า เราเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงอาหารปลอดภัย

"เวลาเกษตรกรตั้งใจปลูกแบบอินทรีย์ แล้วเอาไปขายที่ตลาด กลับได้ราคาแบบเดียวกับปลูกแบบเคมี ถ้าเกษตรกรปลูกพืชผักดีๆ แล้วจะขายใคร นี่เป็นจุดเริ่มต้นของฟาร์มโตะที่ทำงานเชื่อมโยงกับเกษตรกร เพื่อบอกเล่าเรื่องราวผลผลิตที่เราปลูก ผู้ซื้อสามารถเข้ามาดูในพื้นที่ปลูกได้ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน เรามีโครงการตะกร้าชุมชน 4 ภาค เช่น พริกไทยปะเหลียน จ.ตรัง กาแฟดอย, ข้าวดอย, กระเทียมน้ำแร่" โอฬาร กล่าว

หลายฝ่ายต่างเห็นว่า ถ้าเกษตรบ้านเราเป็นแบบอินทรีย์ ก็จะทำให้คนไทยได้กินอาหารปลอดภัยมากขึ้น ป่วยน้อยลง