'ก้าวไกล-พปชร' สวนคนละหมัดกลางสภา

'ก้าวไกล-พปชร' สวนคนละหมัดกลางสภา

'ก้าวไกล' ไล่นายกฯหมดความชอบต้องออกไป เลือกผู้นำใหม่ปลดแอกจากคสช. 'พปชร.' สวนทันควัน ลาออกยุบสภาเรื่องไม่จบ ม็อบเหลืองลุกฮือแน่ ซัดนักการเมืองฝังหัวเยาวชนต้องล้มระบอบเพื่อสร้างอนาคตใหม่

ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายระหว่างการประชุมรัฐสภาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ว่า ความแตกต่างเป็นเรื่องปกติของสังคม จะบังคับให้มีความคิดเห็นให้เหมือนกันนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่จุดยืนที่ต้องมีร่วมกัน คือ การอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง เราไม่สามารถกำจัดคนเห็นต่างออกไปได้ ท่าทีของรัฐบาลมีความสำคัญมาก เพราะต้องใช้กลไกรัฐสภาคลี่คลายปัญหาและสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภวะ จะทำให้ความหวาดระแวงลดลง  ทว่ารัฐบาลกลับทำตรงข้าม คือ ไม่ฟังเสียงประชาชน และคิดว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด พร้อมกับใช้กฎหมายดำเนินคดี และปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชน 

"ที่ให้อภัยไม่ได้ คือ การผลิตซ้ำเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เอาประเด็นอ่อนไหวมาปลุกให้ประชาชนเกลียดชังกัน มาจนถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่ราชประสงค์ ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ บอกตัวเองว่าการชุมนุมมีเบื้องหลัง และสร้างปีศาจให้อีกฝั่งเป็นศัตรู จงใจสร้างไม่สงบขึ้นมาเอง และใช้อำนาจพิเศษ รัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เป็นรัฐบาลเพื่อประชาชน  ผมทราบหัวใจประชาชนดีว่าอึดอัดแทบจะระเบิด แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเงื่อนไขของความขัดแย้ง คนมีความคิดเห็นแตกต่างมีสิทธิแสดงออก ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมต้องเข้าใจก่อนว่าการชุมนุมเกิดขึ้นเพราะมาจากการถูกกดทับอย่างไม่เป็นธรรม การแก้ไขปัญหานี้จะใช้อำนาจนิยมแบบเดิมไม่ได้ แต่ต้องพูดคุยอย่างเข้าใจอย่างมีสายใยต่อกันทั้งครอบครัว และเพื่อน"

นายวิโรจน์ กล่าวว่า เรื่องการปฏิรูปสถาบันย่อมสามารถพูดคุยกันได้อย่างมีเหตุผลและลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน วันนี้ยังมีทางออกโดยการสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจและสร้างพื้นที่ปลอดภัย การพูดคุยเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการปฏิรูปในเรื่องใดๆย่อมมีโอกาสหาฉันทามติร่วมกัน ยืนยันว่ายังไม่สายไปจริงๆ ขอ

"เรียกร้องให้นายกฯลาออกและพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลและเลือกนายกฯคนใหม่ที่เป็นอิสระจากคสช.เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญและยุบสภา นายกฯเสียสละเถอะครับ เพื่อให้ประชาชนได้เริ่มนับอนาคตของเขาไปข้างหน้า"

ด้านนายถวิล เปลี่ยนศรี ส.ว.ได้ประท้วงการอภิปรายของนายวิโรจน์ โดยอ้างว่านายวิโรจน์อภิปรายด้วยข้อมูลคลาดเคลื่อน เช่น การนำเหตุการณื 6 ตุลาคม 2519 ไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เพราะเหตุการณ์ปี 2553 ไม่ได้ล้อมปราบประชาชน แต่นายชวน กล่าวว่า เมื่อเหตุใดไม่เกี่ยวข้องหรือพาดพิงนายถวิลโดยตรง ย่อมไม่เป็นเหตุที่จะประท้วงได้ อย่างไรก็ตาม นายชวน ได้ให้สิทธินายถวิลชี้แจงในฐานะเป็นอดีตเลขานุการศอฉ.เมื่อปี 2553 โดยนายถวิล ชี้แจงว่า รัฐบาลขณะนั้นพยายามแก้ไขปัญหาการชุมนุมโดยไม่มีการล้อมปราบแม้แต่ครั้งเดียว 

ต่อมาเป็นการอภิปรายของนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โดยระบุว่า การปราศรัยของผู้ชุมนุมตั้งแต่ที่สนามหลวงมีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ชัดเจน พร้อมกับกล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นหมา แต่จะไม่ทะเลาะกับหมา โดยจะทะเลาะกับเจ้าของหมา มีการใช้ถ้อยคำหยาบคายและใช้ชื่อในการชุมนุม

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า การเรียกตัวเองว่าคณะราษฎร คณะราษฎร 2475 ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศแต่คณะราษฎร 2563 จะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นแบบไหน การเคลื่อนไหวเกิดขึ้นมาจาก 1. การใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง 2.เงินทุน ไม่มีเงินเคลื่อนไหวไม่ได้ เงินมาจากไหน จากต่างชาติใช่หรือไม่ 3.นักการเมือง บางกลุ่มใช้กระแสเรื่องนี้เป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจ พูดตรงๆว่าเขาเล่นเรื่องนี้มานาน เพื่อสร้างคะแนนนิยมและมวลชน เป้าหมายไม่ใช่การเป็นนายกฯ แต่เป็นอะไรมากกว่านั้นแน่นอน

"ไม่เคยเกลียดเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหว หลายคนเรียนจบมาไม่มีงานทำ หลายคนมีงานทำไม่พอกิน หลายคนมองไม่เห็นอนาคตตัวเอง วันนี้นักการเมืองหยิบยื่นความคิดให้เขาว่าจะมีอนาคตใหม่ แต่อนาคตใหม่ของเขาต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองก่อน มิเช่นนั้นเขาไม่ออกมาเดินขบวนกันขนาดนี้หรอก" 

160377958320

ทั้งนี้ ระหว่างการอภิปรายของนายชัยวุฒิ ได้มีส.ส.พรรคก้าวไกลลุกขึ้นประท้วง เพราะเป็นการอภิปรายที่ใส่ร้ายผู้ชุมนุม จึงขอให้ประธานรัฐสภาควบคุมการประชุมด้วย จากนั้นนายชวน กำชับไปยังนายชัยวุฒิว่าขอให้ระวังในการใช้ถ้อยคำระหว่างการอภิปรายด้วย 

นายชัยวุฒิ อภิปรายต่อไปว่า เมื่อนักการเมือง เงินทุน และสื่อออนไลน์ มารวมกัน ถ้ารัฐบาลตัดสามสิ่งนี้ได้รัฐบาลก็ชนะ  แต่หากทำไม่ได้ก็ต้องมองทางเลือกอื่น ที่ผ่านมามีข้อเสนอด้วยกัน 5 ทางเลือก 1.นายกฯลาออกตามข้อเรียกร้อง แต่ก็จะไม่จบ เพราะผู้ชุมนุมประกาศว่าทะเลาะกับเจ้าของหมา และเมื่อมีการลาออกก็ต้องเลือกนายกฯใหม่ มีคำถามว่าในสภาพเช่นนี้จะรวมเสียงในสภาได้หรือไม่ ไม่มีทางจัดตั้งรัฐบาลได้ หรือต่อให้ตั้งรัฐบาลก็ล้ม 2.ยุบสภา หลายคนเห็นด้วยกับแนวทางนี้เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน เยาวชนปลดแอกอยากมีอำนาจเปลี่ยนแปลงก็ไปสนับสนุนพรรคการเมืองให้ได้ 376 เสียง แต่จะมีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งใส่เสื้อเหลืองมาประท้วง ถ้ารัฐบาลชุดปัจจุบันชนะเลือกตั้งก็โดนประท้วงอีก การยุบสภาจึงเป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น

3.ยึดอำนาจ นายกฯเป็นรมว.กลาโหมด้วยก็สามารถยึดอำนาจตัวเองได้ ในอดีตก็เคยทำกันมาแล้ว และร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่โดยประชาชน แต่ก็มีบทเรียนว่าการรัฐประหารตัวเองในอดีตอยู่ได้ไม่นาน เพราะต่อมาเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 4.การทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับผู้ชุมนุม เชื่อว่าถ้าการทำประชามติมีคำถามเหมาะสมและประชาชนมีส่วนร่วมเต็มที่ ก็อาจเป็นทางออก และ 5.รัฐบาลไม่ต้องทำอะไร ทนอยู่กันไปอย่างนี้ รัฐบาลอึดเข้าไว้อาจจะชนะก็เป็นได้ นายกฯต้องอดทนและทำความเข้าใจกับประชาชน ดึงคนเห็นต่างมาเป็นพวกให้มากที่สุด เช่น การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ