'TRBN - ภาคี 38 องค์กร' ร่วมทำโครงการ 'หมุนเวียน เปลี่ยนโลก' เชื่อมโยงการจัดการทรัพยากร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

'TRBN - ภาคี 38 องค์กร' ร่วมทำโครงการ 'หมุนเวียน เปลี่ยนโลก' เชื่อมโยงการจัดการทรัพยากร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

TRBN จับมือภาคี 38 องค์กรขับเคลื่อนโครงการ "หมุนเวียน เปลี่ยนโลก" ตั้งเป้าหมายในปีแรกจะส่งขยะ 500 ตันไปสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงการจัดการทรัพยากร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 63 เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย หรือ TRBN Thailand Responsible Business Network จับมือภาคีภาครัฐและเอกชนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในโครงการ “หมุนเวียน เปลี่ยนโลก” ตั้งเป้าหมายในปีแรกจะส่งขยะ 500 ตันไปสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ

เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นโดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กับสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะระดมความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อใช้ศักยภาพของแต่ละภาคีในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า กระแส ESG (Environment, Social and Governance) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้ลงทุนสถาบันก็ได้ให้ความสําคัญกับ ESG โดยใช้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจลงทุน

“เรามีความเชื่อว่า โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน ที่ถนนสุขุมวิท เป็นโมเดลที่สามารถขยายผลไปยังถนนเส้นอื่นต่อไป รวมทั้งภาคธุรกิจสามารถยกระดับการเปิดเผยข้อมูลสะท้อนเรื่อง ESG ผ่านรายงาน One Report”

การลงนามในเจตนารมณ์ร่วมกันในครั้งนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในกลไกที่มีพลังให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง โดยมีองค์กรจากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือแบบ end-to-end จะช่วยส่งเสริมให้การพัฒนาของประเทศไปสู่ความยั่งยืน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ปี 2030”

ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีบริษัทจดทะเบียนกว่า 700 บริษัท ซึ่งกระบวนการดำเนินธุรกิจได้ผลิตสินค้าและบริการตอบสนองผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยห่วงโซ่ธุรกิจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของขยะเศษอาหาร ขยะพลาสติก และขยะจากการผลิต ภาคตลาดทุนจึงต้องการมีส่วนร่วมลดปัญหาขยะดังกล่าว ซึ่งในโครงการ "หมุนเวียน เปลี่ยนโลก" ถือเป็นต้นแบบที่ดีช่วยให้บริษัทภาคเอกชนในตลาดทุนไทยตระหนักถึงการจัดการขยะในการะบวนการดำเนินธุรกิจที่เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอชื่นชมและสนับสนุนเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) และพันธมิตรกว่า 38 องค์กร ที่ร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และส่งเสริมบรรษัทภิบาลในตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน”

นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่าเกิดวิกฤตต่างๆ มากขึ้น ทำให้บริษัทส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบ ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงที่ดีต้องคํานึงถึงความยั่งยืน ยิ่งในช่วงที่โลกของเรากําลังเปราะบางเช่นนี้ มิฉะนั้นจะนํามาซึ่งค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในระยะยาว

“เราสามารถดําเนินงานได้จากโครงการเล็กๆ โครงการใกล้ตัวอย่าง โครงการ ‘หมุนเวียน เปลี่ยนโลก’ นี้ ไม่จําเป็นต้องลงทุนมากมาย แต่เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มนวัตกรรมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ กิจการของเราก็จะยั่งยืน เติบโต สามารถรักษาส่วนต่างของรายได้และค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้”

นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่าย ฯ เปิดเผยว่า บริษัทเอกชน องค์กร ภาครัฐ ภาควิชาการและประชาสังคม 38 องค์กรมาร่วมลงนามแสดงเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กว้างขวางและพัฒนาอย่างเป็นระบบอย่างแท้จริง

“เศรษฐกิจหมุนเวียนมีความตื่นตัวกันทั่วโลก และมีความจำเป็นเพราะทรัพยากรมีจำกัดขึ้นทุกวัน ฉะนั้นการนำขยะกลับมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญมาก”

ในส่วนของประเทศไทยนั้น รายงานจากกรมควบคุมมลพิษเผยว่า ในปี 2562 ประเทศไทยผลิตขยะ ประมาณ 28.7 ล้านตัน แต่ขยะมูลฝอยที่ได้รับการคัดแยกขยะต้นทางและนำกลับไปใช้ประโยชน์มีปริมาณเพียง 12.6 ล้านตัน (ร้อยละ 44)

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึงปีละ 12% โดยในจำนวนนี้เป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียวประมาณ 80% กับมีขยะพลาสติกหลุดรอดไปในทะเลมากถึงปีละ 30,000 ตัน สำหรับขยะในเมืองนั้น พบว่าเป็นเศษอาหารในสัดส่วนสูงถึง 64%

160376267919

อย่างไรก็ตาม การเกิดวิกฤตโควิด-19 กระตุ้นพฤติกรรมการสั่งสินค้าและอาหารมาส่งถึงบ้าน ทำให้ปัญหาขยะพลาสติกเฉพาะในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

“เศรษฐกิจหมุนเวียนมีการดำเนินงานกันบ้างแล้ว แต่กระบวนการไปสู่ความสำเร็จยังไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะในด้านของการรวบรวมและคัดแยก ซึ่งถ้าทำสำเร็จจะช่วยชาวไทยทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม”

TRBN จึงเชิญบริษัทจดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีนโยบายและความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และบริษัทเอกชนที่เป็นคู่ค้าหรือบริษัทในห่วงโซ่การผลิตและจัดการ มาร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม นำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดในวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ แยกปทุมวัน-ราชประสงค์ เพื่อจัดการทรัพยากรให้ครบวงจร ร่วมกันสร้างระบบและนวัตกรรมการจัดการใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้ง การเก็บข้อมูล ประเมินผล และถอดบทเรียนเชิงวิชาการ

“การลงนามความร่วมมือโครงการหมุนเวียนเปลี่ยนโลกในวันนี้ก็เพื่อร่วมดำเนินโครงการบนพื้นที่แยกปทุมวัน-ราชประสงค์ เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2563 - ธันวาคม 2564 โดยมีเป้าหมายจะรวบรวมวัสดุใช้แล้วที่สะอาดและแห้งเข้าระบบการรีไซเคิลให้ได้ไม่น้อยกว่า 500 ตัน จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการนำไปใช้ใหม่ของแต่ละองค์กร”

นาง พิมพรรณ กล่าวว่า TRBN ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในช่วงต้นปีโดยนำร่องเปิดจุดรับขยะพลาสติกสะอาดและแห้ง 10 จุดบนถนนสุขุมวิท ได้ผลเป็นที่น่าพอใจคือมีประชาชนนำขยะพลาติกมาส่ง 2.2 ตัน ในเวลา 90 วัน และสามารถลำเลียงเข้ากระบวนการรีไซเคิลร้อยละ 90

“เราคาดหวังว่าการร่วมมือกันครั้งนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้ผลิตสินค้า ผู้ผลิตขยะ ผู้รวบรวม รีไซเคิล จนครบกระบวนการ เพื่อให้ประเทศไทยเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ กว้างขวางต่อไป”

160376267996