‘ดาวโจนส์’ดิ่ง 650จุด

‘ดาวโจนส์’ดิ่ง 650จุด

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันจันทร์ (26ต.ค.)ร่วงลง 650 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นในสหรัฐ รวมทั้งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวลง 650.19 จุด หรือ 2.29% ปิดที่ 27,685.38 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 64.42 จุด หรือ 1.86% ปิดที่ 3,400.97 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 189.35 จุด หรือ 1.64% ปิดที่ 11,358.94 จุด

มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เปิดเผยว่า สหรัฐพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่กว่า 83,000 รายทั้งในวันศุกร์และวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในวันศุกร์พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 83,700 ราย ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มากกว่าเมื่อกลางเดือนก.ค. ซึ่งขณะนั้นพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 77,300 ราย

นอกจากนี้ จากการคำนวณของสำนักข่าวซีเอ็นบีซีพบว่า ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา สหรัฐมีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เฉลี่ย 68,767 รายต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าช่วง 7 วันก่อนหน้านี้ถึง 22%

ขณะนี้สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 8.8 ล้านราย และเสียชีวิตมากกว่า 230,000 ราย

ตัวเลขดังกล่าวทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าสถานการณ์จะย่ำแย่ลงอีกในช่วงฤดูหนาว โดยนพ.สก็อตต์ ก็อตต์ลิเอ็บ อดีตประธานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) กล่าวเตือนว่า สหรัฐจะเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 โดยเริ่มตั้งแต่สัปดาห์นี้

อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความในวันนี้ ระบุว่า สื่อในสหรัฐกำลังสมรู้ร่วมคิดกันในการเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

ปธน.ทรัมป์ระบุว่า การที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหรัฐพุ่งสูงขึ้นมีสาเหตุจากการที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจหาเชื้อจากประชากรจำนวนมาก

นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ยังอ้างว่าผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวมีอัตราการหายป่วยจากโควิด-19 สูงถึง 99.9%

ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ โดยนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย.นี้ แต่ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงการเจรจากับวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน

ด้านปธน.ทรัมป์และนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลัง ตอบโต้ว่า นางเพโลซีต้องยอมประนีประนอมเพื่อให้มีการอนุมัติมาตรการดังกล่าว โดยทั้งสองฝ่ายยังคงมีความขัดแย้งที่สำคัญ ซึ่งได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือต่อมลรัฐต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้สินของภาคธุรกิจ

ด้านโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า สภาคองเกรสสหรัฐจะไม่สามารถออกกฎหมายว่าด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐได้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย.