'ประยุทธ์' ยันอ้าง 'พญามัจจุราช' ไม่ได้ขู่ใคร แค่เตือนตัวเอง

'ประยุทธ์' ยันอ้าง 'พญามัจจุราช' ไม่ได้ขู่ใคร แค่เตือนตัวเอง

'ประยุทธ์' ยันอ้าง 'พญามัจจุราช' ไม่ได้ขู่ใคร แต่แค่เตือนตัวเองไม่ประมาทกับชีวิต 'ก้าวไกล' ซัดใช้สลายม็อบไม่ใช่หลักสากล ด้าน 'คำนูณ' เชื่อ เปิดสภาวันนี้เป็นก้าวแรกสู่ทางออก

เมื่อเวลา 17.20 น. ที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ชี้แจงระหว่างการประชุมรัฐสภาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ว่า ประเด็นที่ตนเองพูดถึงเรื่องพญามัจจุราชนั้นมาจากการที่ตนเองได้ร่วมงานศพหลายที่ และฟังพระสวดและสอน เวลานั้นก็มีสื่อมชนมาถามตนเองว่าจะอยู่ในตำแหน่งนานขนาดไหน ตนก็บอกว่าไปว่าอย่าประมาทกับชีวิต 

"ที่ผมพูดแบบนั้นหมายถึงตัวผม ผมเตือนตัวเอง ไม่ได้ไปขู่ใครเลย ทุกครั้งถูกตัดต่อมาตลอด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพราะเวลานั้นสถานการณ์มีแนวโน้มลุกลามบานปลาย หลายคนพยายามทะลุไปทำเนียบรัฐบาลและที่หมายที่อื่น ซึ่งมีรายงานเข้ามาทั้งหมด จึงจำเป็นต้องหยุดไม่ให้ลุกลาม และที่สำคัญพระราชกำหนดฉบับนี้ถูกร่างขึ้นมาตั้งแต่พ.ศ. 2548 จากนั้นใช้กันทุกรัฐบาล แต่รัฐบาลชุดนี้ได้ใช้อย่างระมัดระวัง 

ด้าน นพ.เอกภพ  เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การสลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน ไม่ได้เป็นไปตามหลักสากลอย่างชัดเจน เพราะไม่ได้มีกระบวนการในการเจรจาก่อน แต่กลับใช้กำลังสลายสลายการชุมนุม นำมาซึ่งผู้บาดเจ็บจากการใช้กำลังดังกล่าว แม้ที่ผ่านมาฝ่ายรัฐบาลจะอ้างว่าได้ดำเนินการตามหลักสากล แต่รัฐบาลไม่ได้อธิบายหลักสากลที่ว่านั้นเป็นอย่างไร เพราะถ้าย้อนไปดูการสลายการชุมนุมในต่างประเทศ จะพบว่าถึงมีการใช้ปืนแรงดันน้ำสลายการชุมนุมแต่ก็ผู้ได้รับบาดเจ็บจนถึงเสียชีวิตเช่นกัน นอกจากนี้ หากยึดหลักสากลจริงเมื่อมีการใช้กำลังสลายการชุมนุมแล้วรัฐบาลจะต้องรายงานการดำเนินสลายการชุมนุมแล้วจะต้องรายงานต่อองค์กรอิสระ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) 

"ดังนั้น หากมีเจ้าหน้าที่คนใดรู้สึกอึดอัดใจกับการออกคำสั่งเกี่ยวกับผู้ชุมนุมที่ไม่ชอบธรรม ขอให้ออกมายืนข้างประชาชน" นพ.เอกภพ กล่าว 

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า การประชุมสภาครั้งนี้ ถือว่ามีหลายเรื่องที่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ อย่างไรก็ตาม มีปัญหาว่าการทำประชามติจะต้องทำอย่างไรถึงจะถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพราะการทำประชามติมีข้อห้ามในเรื่องการถามเกี่ยวกับสถานภาพของบุคคล

นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าประเทศยังมีทางออกนะครับ แต่ขอให้นายกฯยืนยันรักษาคำพูดที่ท่านให้ไว้เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ทั้งเรื่องการถอยคนละก้าวและการเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา สังคมจะเดินไปได้จะต้องยอมรับความแตกต่างและพื้นที่ยืนของทุกฝ่าย โดยจะต้องแก้ไขปัญหาผ่านกลไกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญออกแบบให้รัฐสภาเป็นเวทีแห่งสันติและเปิดโอกาสให้มีกลไกการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายทั่วไป การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การลาออก การยุบสภา และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการลงประชามติ  การถอยคนละก้าวเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ขอให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติยึดแนวทางนี้เพื่อให้ประเทศก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง