ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์"ราคาน้ำมัน" 26-30 ต.ค. 63 และสรุปสถานการณ์ฯ 19-23 ต.ค. 63

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์"ราคาน้ำมัน" 26-30 ต.ค. 63 และสรุปสถานการณ์ฯ 19-23 ต.ค. 63

ราคาน้ำมันถูกกดดันต่อเนื่อง จากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังคงไร้ข้อสรุป

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 38-43 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 39-44 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (26 - 30 ต.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง จากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังของสหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงอุปทานที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และลิเบีย นอกจากนี้ ตลาดยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนของการเจรจานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มไม่สามารถหาข้อสรุปได้ก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พ.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงหนุนจากการเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรที่ยังคงปรับลดกำลังการผลิตในระดับที่สูงต่อเนื่อง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ต.ค. ปรับลดลง 0 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ราว 1.4 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล สวนทางกับตลาดที่คาดไว้ว่าจะปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล หลังความต้องการใช้น้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงค่อนข้างมากมาสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 63
  • ติดตามการเจรจามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ ว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พ.ย. นี้หรือไม่ หลังทั้งสองฝ่ายยังคงไม่สามารถตกลงแก้ไขปัญหาบางประเด็น อาทิ วงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ 8 หรือ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • การผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตเริ่มกลับมาทยอยเปิดดำเนินการแหล่งผลิตและท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบ โดยปริมาณการผลิตล่าสุดเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องแตะระดับที่ 500,000 บาร์เรลต่อวัน โดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียคาดปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 800,000 บาร์เรลต่อวันภายใน 2 สัปดาห์และจะแตะระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันภายใน 4 สัปดาห์ หลังจากที่ได้มีการยกเลิก Force Majeure ที่ท่าเรือส่งออกขนาดใหญ่ Es Sider และ Ras Lanuf
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการที่ผู้ผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโก สหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดดำเนินการผลิตน้ำมันดิบ หลังต้องหยุดดำเนินการไปชั่วคราวราว 68 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากผลกระทบของพายุเฮอริเคนเดลต้า นอกจากนี้ ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เริ่มปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบเพิ่มมากขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล โดย Baker Hughes เปิดเผยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ต.ค. ปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63
  • กลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตร เปิดเผย ในการประชุมเมื่อวันที่ 19 .ค. ว่ากลุ่มผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปฏิบัติตามข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิต โดยในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมากลุ่มโอเปค-10 ได้ปฏิบัติตามแผนข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตรวมกว่าร้อยละ 101 อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการหารือกันถึงระดับการปรับลดกำลังการผลิตในปีหน้า ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. และคาดจะมีการพิจารณาว่าจะมีการขยายการปรับลดกำลังการผลิตที่ 7 ล้านบาร์เรลต่อวันไปอีกหรือจะปรับลดลงตามแผนเดิมมาอยู่ที่ราว 5.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 3/63 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า จีดีพียูโรโซนไตรมาส 3/63 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 - 23 ต.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.03 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 39.85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.16 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 41.77 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 41.82 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นกว่า 40 ล้านคนและทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปกลับมาดำเนินมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง นอกจากนี้ ราคายังเผชิญกับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง