"แพรนด้า" ธุรกิจหัตถศิลป์ เรียงร้อยห่วงโซ่ยั่งยืน 

"แพรนด้า" ธุรกิจหัตถศิลป์ เรียงร้อยห่วงโซ่ยั่งยืน 

แพรนด้า จิวเวลรี่ ธุรกิจหัตถศิลป์ ที่ผู้นำองค์กรแห่งนี้พูดถึงความยั่งยืน มาเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา จนรู้สึกเหมือนคุยคนละภาษากับคนอื่น ถูกมองว่ามาจากโลกพระจันทร์ ทว่าวันเวลาผ่านไป“ความยั่งยืน” กลายเป็นกระแสหลักซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าพาธุรกิจรอดทุกวิกฤติ

ในวันที่โลกเผชิญภัยธรรมชาติ และภัยทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย กลายเป็นที่มาทำให้ภาคธุรกิจกว่า 13,000 ราย จาก 160 ประเทศทั่วโลก รวมตัวในนาม "สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก" (UN Global Compact-UNGC) ซึ่งมีบริษัท แพรนด้า จิวเวอรี่ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในนั้น เพื่อขอมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

โดยองค์กรแห่งนี้ ยึดแนวคิด "ความสำเร็จของธุรกิจ คือการสร้างความสุขให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้องซึ่งถือเป็นหลักการเดียวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ แก้ไขปัญหาโลกใน 17 ข้อ (Sustainable Development Goals-SDGs) โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อกำไรทางธุรกิจ คน และสิ่งแวดล้อมโลก (Profit-People-Planet)

กลายเป็น "เข็มทิศธุรกิจสำคัญที่ทำให้แพรนด้าฯอยู่รอดในทุกวิกฤติและการเปลี่ยนแปลงของโลก แม้แต่ช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) กระทบธุรกิจทั้งโลก แต่แพรนด้าฯ กลับเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงบวก จากคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ที่ย้ายจากประเทศมีการติดเชื้อโควิด-19 อย่างหนักอย่างอินเดีย มาสู่ฐานการผลิตในไทยของแพรนด้า จิวเวลรี่ ส่วนหนึ่ง เกิดจากความเชื่อมั่นในแบรนด์ ที่ดำเนินการด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง

ปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บริษัทแพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) ให้ทัศนะว่า มุมมองของนักธุรกิจคนอื่นเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เข้าใจหลักการทำธุรกิจยั่งยืนมากนัก จึงต้องกำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ ที่ภาคธุรกิจไทย และหน่วยงานภาครัฐ ยังไม่มีใครเข้าใจนักว่าคืออะไร ดังนั้นเมื่อนำแนวคิดเหล่านี้ไปชักชวนเพื่อนในแวดวงธุรกิจ จึงถูกมองว่าเหมือนมาจากคนละโลก

"เคยเดินเข้าไปพูดเรื่องความยั่งยืนที่สภาผู้แทนราษฎร หรือหน่วยงานภาครัฐ เขามองผมเหมือนมาจากโลกพระจันทร์ ในช่วงเกือบ 20 ปีก่อนแต่พอ UNGC เข้ามาไทย จากที่เคยเป็นคนชายขอบ กลายเป็นแกนกลาง เพราะการทำธุรกิจของเรากำไรเป็นแค่ 1ใน 3 ของสิ่งที่เราควรจะช่วยดูแลโลกใบนี้"

เขายังบอกด้วยว่า หลักการของ UN Global Compact ต้องการสร้างความไว้วางใจในการทำธุรกิจ ให้คนมองว่าไม่ใช่ "นายทุน" ที่จ่ายเงินเพื่อหวังผลประโยชน์ และเป็นผู้ใช้ทรัพยากรโลกที่เริ่มจะมีไม่เพียงพอ เมื่อ SDGs เริ่มเข้มข้นและขยายวงกว้างมาสู่ประเทศไทย จึงเกิดเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) หรือ GCNT ตั้งแต่ปี 2559

ปรีดา ยังถือเป็นนักธุรกิจเพื่อสังคม ที่ทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม มาโดยตลอด มีทิศทางเดียวกันกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่มักจะเรียกร้องเรื่องความเสมอภาคทางสังคม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีการนำวัตถุดิบพลอยและอัญมณีจากแหล่งที่มีแหล่งกำเนิดที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ไม่สร้างความเสียหายกับสิ่งแวดล้อม

นักธุรกิจต้องมีจิตสำนึกเคารพสิทธิผู้อื่น การทำกำไรไม่ใช่ทั้งหมดในการทำธุรกิจ หัวใจที่แท้จริงของการทำธุรกิจ คือการสร้างความสุขให้กับคนทุกคนที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) ทั้งผู้ถือหุ้น พนักงาน พันธมิตรคู่ค้า และสังคมรอบข้าง แนวคิดนี้เมื่อพูด 20 ปีที่แล้วอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่ในวันนี้กลายเป็นกระแสหลักที่นักธุรกิจต้องมีส่วนร่วมทำ เขาย้ำ

 สำหรับหลักการบริหารจัดการกลยุทธ์ธุรกิจอย่างยั่งยืนของแพรนด้าฯ มี 5 ด้าน คือ 1.จัดสรรทรัพยากรและการบริหารอย่างสมดุลระหว่างยอดขายสินค้ารับจ้างออกแบบ และผลิต(ODM)50% และสินค้าแบรนด์ของตนเอง(OBM)50% 

1.พัฒนาระบบบริหารการเงินให้มีประสิทธิภาพ 2. รักษาวินัยและป้องกันความเสี่ยง 3. บริหารบนความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม 4.ปฏิบัติตามหลักการกํากับดูแลกิจการตามพันธะสัญญาโลกของสหประชาชาติ (UN Global Compact) อย่างเคร่งครัดและ 5. เป็นองคก์รแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

โดยเริ่มต้นจากการดูแลคน พนักงาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ ที่มีกำลังการผลิต 4 ล้านชิ้นต่อวัน มีพนักงานในเครือทั้งหมดกว่า 2,000 คน จึงผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมในองค์กร ทำให้พนักงานรู้สึกว่าที่ทำงานเป็นเหมือนกับบ้านหลังที่สอง มีสวัสดิการอาหาร และที่พัก รวมไปถึงแปลงผัก ตลอดจนมีการตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับพนักงาน

เมื่อพนักงานมีความสบายใจและความสุขในการทำงาน ก็มีการพัฒนาทักษะพนักงานให้มีจิตวิญญาณของผู้รังสรรค์งานศิลป์ หรือเป็น The Architecture of Craftsmanship ภาคภูมิใจในงานที่ทำ 

“อุตสาหกรรมอื่นยังสามารถนำแรงงานต่างชาติมาทดแทนแรงงานคนไทยได้ แต่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นการผลิตของมีค่า เป็นงานละเอียด ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะฝีมือ จึงต้องฝึกคน และดูแลให้อยู่กับเราไปนานๆ มุ่งเน้นการจ้างคนท้องถิ่นมากกว่า เพราะเชื่อว่าคนไทยจะอยู่กับบริษัทนานกว่า”

ทว่า ในยุคที่แรงงานขาดแคลน และแข่งขันสูง แพรนด้าฯ จึงเตรียมรับมือโดยการแบ่งสินค้าที่เน้นปริมาณผลิตโดยใช้เครื่องมือทดแทน หรือแรงงานถูก มีการลงทุนฐานการผลิตตั้งโรงงานในเวียดนาม และอินโดนีเซีย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในกลุ่มสินค้ารับจ้างผลิต (OEM) เมื่อต้องแข่งขันด้านราคาและสินค้าแบรนด์ มีมูลค่าสูงยังยึดไทยเป็นฐานการผลิตหลัก และมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในบางสายการผลิตที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ

ทั้งหมดคือการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยสร้างคุณค่าให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสร้างคุณค่าร่วมกัน (Share Value) โดยเฉพาะเมื่อมี SDGs อยู่บนสินค้า แบรนด์ที่ส่งออกไปต่างประเทศ ก็ได้รับการยอมรับว่าไม่มีการเบียดเบียนริดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้คน เพราะผู้บริโภคยุคปัจจุบัน คนรุ่นใหม่มีความตระหนักรู้ เรียกร้องมากขึ้น จึงต้องการเป็นเจ้าของสินค้ามูลค่าสูงแบรนด์ที่ไว้วางใจของสังคม