'ปชป.' ขอสภารีบแก้รธน. - 'เสรีพิศุทธ์' พร้อมลาออกตามประยุทธ์

'ปชป.' ขอสภารีบแก้รธน. - 'เสรีพิศุทธ์' พร้อมลาออกตามประยุทธ์

'จุรินทร์' อภิปรายขอสภาเร่งผ่านร่างรธน. หยุดใช้กลไกซื้อเวลา ด้าน 'เสรีพิศุทธ์' เผย พร้อมลาออกพร้อมนายกฯ

ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายตอนหนึ่งระหว่างการประชุมรัฐสภาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ว่า พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเทิดทูนชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ และสนับสนุนการใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช้ความรุนแรงใดๆทั้งสิ้่น และทุกฝ่ายต้องลดเงื่อนไข กล่าวคือ ทุกฝ่ายต้องชักฟืนออกจากกองไฟเพื่อไม่ให้ลามออกไปโดยไม่จำเป็น และเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เพราะถือเป็นเงื่อนไขของการเข้าร่วมรัฐบาล 

"ควรนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาในวาระที่ 1 ทันทีที่ทำได้ และไม่ควรมีเงื่อนไขไปสู่การเข้าใจจากสังคมว่าเป็นการยื้อเวลาอีก เช่น การทำประชามติก่อนรับหลักการ เป็นต้น เพราะการทำประชามตินั้นรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าให้ทำประชามติหลังผ่านรัฐสภาและก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีการทำประชามติอีก และเพื่อให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปราบรื่น เห็นสมควรให้วิปรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ร่วมกันหาทางออกว่าจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนมาพิจารณาด้วยหรือไม่ ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้มีความสำคัญ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระต่อไปมีความราบรื่น"

นายจุรินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ควรมีข้อสรุปและข้อเสนอสำหรับการหาทางออกร่วมกัน เห็นว่ารัฐสภาควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งโดยให้ประธานรัฐสภาลงนามแต่งตั้ง ซึ่งเป็นแนวทางที่เคยดำเนินการมาแล้วเมื่อปี 2552 คือ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูปและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าควรให้มีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง โดยต้องมีหลักการ 3 ประการ ได้แก่ 1.ประกอบด้วยบุคคลทั้งในและนอกสภา ผู้แทนรัฐบาล ผู้แทนส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว. ฝ่ายเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ฝ่ายที่เห็นต่างจากกลุ่มผู้ชุมนุม และบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ 2.ให้มีหน้าที่แสวงหาคำตอบที่เป็นทางออกให้กับประเทศ เน้นการคุยกันอย่างสร้างสรรค์ อะไรที่ถอยกันได้ก็ถอยคนละก้าว เพื่อให้ดำรงเป้าหมายในการหาทางออกให้กับประเทศให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และ 3.ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ทั้งหมดหวังว่ารัฐสภาจะนำไปพิจารณาและไตร่ตรองต่อไป และขอเรียกร้องให้วิป 3 ฝ่ายเร่งหารือกัน หากทำได้เช่นนี้จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้ แม้บางเรื่องจะต้องใช้เวลาให้เกิดตกผลึกร่วมกันบ้างก็ตาม 

ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่านายกฯไม่ยอมลาออกอย่างแน่นอน จึงอยากเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลออกจากรัฐบาล แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการ ที่สำคัญแทนที่รัฐสภาจะมีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฎว่ามีการตั้งคณะกรรมการศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก เป็นเหตุให้เกิดการชุมนุมมากยิ่งขึ้น การยืดเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปจนสภาเปิดสมัยสามัญวันที่ 1 พ.ย. จะมีผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนไม่ได้รับการพิจารณาจากสภาในสมัยประชุมนี้ เพราะข้อบังคับการประชุมสภากำหนดจะนำญัตติเดียวกันมาเสนอในสมัยประชุมเดียวกันไม่ได้ ทำให้ภาคประชาชนต้องไปเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งในสมัยประชุมถัดไปอีก 

"การเปิดประชุมแบบนี้ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร สิ้นเปลืองงบประมาณ แต่ควรเจรจาและตั้งคณะกรรมการมาคุยกัน ถอยกันคนละก้าว ก้าวแรกเริ่มจากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อแก้แล้วกลุ่มนักศึกษายอมถอยเรื่องสถาบันได้หรือไม่ ก้าวที่สอง แม้จะเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วแต่หากนายกฯยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปย่อมไม่มีทางแก้ไขได้ เพราะนายกฯยังคุมรัฐบาลและส.ว.อยู่ ปกติแล้วนายกฯเป็นกัน 4 ปีและส่วนใหญ่จะอยู่ไม่ครบด้วยซ้ำ คุณจะพอได้แล้วหรือไม่ ควรเสียสละและไม่เสพติดอำนาจ และหากนายกออกผมก็ออกด้วย เอาไหม แฟรๆกันไปเลย"  

160368923390