เคารพในความเห็นต่าง ทางออกของประเทศ

เคารพในความเห็นต่าง ทางออกของประเทศ

การชุมนุมทางการเมืองมักเกิดจากความขัดแย้งทางความคิด ทั้งอุดมการณ์ ผู้นำรัฐบาล หรือแนวทางบริหารประเทศ โดยความเห็นแตกต่างนั้นถือเป็นเรื่องปกติของทุกระดับสังคม แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การเคารพความเห็นแตกต่าง ซึ่งจะทำให้ไม่ก้าวไปสู่จุดแตกหักที่เกิดความรุนแรง

การชุมนุมทางการเมืองในนามคณะราษฎรในปัจจุบัน แตกต่างจากการชุมนุมทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เริ่มเคลื่อนไหวเมื่อปี 2548 รวมถึงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 และการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในปี 2556

ข้อแตกต่างที่สำคัญ คือ การชุมนุมในปัจจุบันส่วนหนึ่งมีการร่วมกลุ่มของเยาวชนที่มีพลังในการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีการนัดชุมนุมต่อเนื่องผ่านเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสาร ทั้งสื่อสังคมออนไลน์ในกระแสหลักและกระแสรอง ซึ่งการติดต่อสื่อสารถือเป็นหัวใจสำคัญของการชุมนุมหลังจากที่ในรอบ 15 ปี ที่ผ่านมา การชุมนุมทางการเมืองใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านทีวีดาวเทียม ซึ่งถือว่าเป็นการสื่อสารระหว่างแกนนำและกลุ่มผู้สนับสนุนได้ประสิทธิภาพในยุคที่ผ่านมา

การประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) ในวันที่ 26-27 ต.ค.2563 ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการใช้กลไกของฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อร่วมกันหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งแม้จะไม่สามารถหาข้อสรุปที่จะแก้ปัญหาให้ได้ 100% แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ปัญหาที่เริ่มต้นด้วยการพูดคุยเจรจาหาทางออกร่วมกันมากกว่าที่จะให้สถานการณ์นำไปสู่ความรุนแรง

การชุมนุมทางการเมืองทุกครั้งมักจะเกิดจากความขัดแย้งทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นความเห็นขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมือง ความเห็นขัดแย้งในตัวนักการเมืองที่ขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาล หรือความเห็นขัดแย้งในแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาล และไม่ว่าความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลใดจะไม่มีทางที่ความขัดแย้งจะยุติลงได้ด้วยการเผชิญหน้า โดยเฉพาะการเผชิญหน้าในบริบทที่ต่างฝ่ายต่างถืออุดมการณ์ที่ตัวเองยึดมั่นไว้

ความเห็นที่แตกต่างถือเป็นเรื่องปกติของทุกระดับสังคม ซึ่งทุกความเห็นล้วนมีข้อดีและข้อเสียในตัวเอง และไม่มีคำตอบใดที่จะตอบโจทย์ได้ทุกข้อ ดังนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่การเคารพถึงความเห็นที่แตกต่าง เคารพในศรัทธาของแต่ละฝ่าย และการเคารพในอุดมการณ์ของแต่ละฝ่าย หากเป็นเช่นนี้ได้ย่อมจะทำให้สถานการณ์ปัจจุบันไม่ก้าวไปสู่จุดแตกหักที่เกิดความรุนแรง