อีคอมเมิร์ซจีน ‘ยุคไร้เงินสด’

อีคอมเมิร์ซจีน ‘ยุคไร้เงินสด’

ความสำเร็จของช่องทางเว็บอีคอมเมิร์ซและกระเป๋าเงินออนไลน์ที่ทำให้จีนกลายเป็นสังคมไร้เงินสด อาจจะทำให้หลายคนสงสัยว่า มีสาเหตุอะไรบ้าง แล้วเราจะสามารถทำให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้หรือไม่ สำหรับสินค้าและธุรกิจบางประเภทที่กำลังเผชิญปัญหาในระหว่างโควิด-19

วิถีชีวิตเปลี่ยน : ต้องยอมรับว่าอีคอมเมิร์ซกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนจีน เช่น อาลีเพย์ วีแชท ไปจนถึงเว็บอีคอมเมิร์ซต่างๆ เช่น เถาเป่า ทีมอลล์ ที่น่าสนใจคือ คนจีนชอบจ่ายทางออนไลน์มากกว่าใช้เงินสด หากเปรียบเทียบกับการเติบโตของช่องทางนี้ในหลายประเทศ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ เครื่องมือออนไลน์ใช้งานสะดวกกว่า

ข้อมูลโดยไอรีเสิร์ชระบุว่า การใช้งานจากไตรมาสแรกของปี 2563 สำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน ที่บ่งชี้ถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินออนไลน์ของคนจีนว่าจำนวนผู้ใช้งานระบบเพย์เมนท์ออนไลน์ในจีนพุ่งไปแตะที่ 768 ล้านคน หรือจำนวนเพิ่มขึ้น 168 ล้าน หากเปรียบเทียบจากสิ้นปี 2561 คิดเป็นสัดส่วนราว 85.3% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในจีนเวลานี้ โดยมีมูลค่าใช้จ่ายบนออนไลน์สูงถึง 56.7 ล้านล้านหยวน

ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นและมูลค่าใช้จ่ายที่สะพัดในโลกออนไลน์ ยิ่งหนุนให้ทุกฝ่ายเข้ามาทำตลาดในช่องทางนี้ ยิ่งช่วงที่ผ่านมาจีนเพิ่งผ่านการกักตัวอยู่ในบ้านจากวิกฤติโควิด-19 ก็มีส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้ผู้คนจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตแล้วหันมาใช้จ่ายบนออนไลน์เป็นหลักกันมากขึ้นไปโดยปริยาย

แพลตฟอร์มออนไลน์ : มีหลายแพลตฟอร์มที่นิยมใช้งานมากในช่วงต้นปีดังนี้ กระเป๋าเงินออนไลน์ที่คนจีนนิยมใช้งานมากที่สุด ยังคงเป็น อาลีเพย์ สัดส่วนผู้ใช้งานอยู่ที่ 55.1% ตามด้วยเทนเพย์ (Tencent) สัดส่วนผู้ใช้งานอยู่ที่ 38.9% ส่วนการใช้จ่ายผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดแบบออฟไลน์ อยู่ที่ 6.6 ล้านล้านหยวน ซึ่งมีการเข้าใช้งานลดลงจากเดือนก่อนราว 31.1%

ที่สำคัญคือ บรรดาแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังนิยมใช้งานบนมือถือกันด้วย เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้คนจีน โดยเฉพาะคนที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป เพิ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือมากขึ้นไปอีกด้วย

มีเครื่องมือที่ใช้งานมาก ตลาดเฉพาะกลุ่ม : เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญมาก เนื่องจากในประเทศจีนเวลานี้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีฟีเจอร์แตกต่างกันขึ้นมาเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน เพื่อให้สามารถรองรับสินค้าและบริการที่แตกต่างกันไป

ที่สำคัญคือ เวลานี้เริ่มมีพื้นที่ของกลุ่มสินค้าและบริการที่เป็นเฉพาะทาง และกลุ่มเป้าหมายสำหรับสินค้าในตลาด Niche มากขึ้นด้วย เช่นบรรดาสินค้าเฉพาะทางต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นกลุ่มอุปโภคบริโภคทั่วไป แต่ก็มีความจำเป็นต้องใช้ อาจมีมูลค่าสูงต่อหน่วย หรือมูลค่าต่ำ แต่จำเป็นต้องซื้อซ้ำเพื่อใช้งานในแวดวงเหล่านั้นก็เป็นได้

ดังนั้นโจทย์สำคัญที่ไม่แพ้การสร้างสรรค์คอนเทนท์คือ จะใช้ช่องทางใดในการทำตลาดออนไลน์ ซึ่งต้องย้อนถามกลับมาว่า ลูกค้าของเราคือใครนั่นเอง

โซเชียลมีเดีย + อีคอมเมิร์ซ : การผสมผสานดังกล่าวมีความสำคัญมาก เนื่องจากช่องทางโซเชียลมีเดียในประเทศจีนหลายแพลตฟอร์ม มักถูกนำมาใช้ผสมผสานกับสำหรับช่องทางอีคอมเมิร์ซ ซึ่งรูปแบบนี้จะถูกเรียกว่า Social E-Commerce (S-Commerce) 

ตัวอย่างเช่น วีแชทและเว่ยป๋อ ซึ่งพบว่ามีอัตราใช้งานจากปีก่อนอยู่ที่ 100.6% ขณะที่อัตราการเติบโตของนักช้อปที่ใช้งาน S-Commerce เป็นช่องทางหลัก มีการเพิ่มขึ้นสูงสุด 57% ในปลายปีก่อน และคาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลลัพธ์ของเทศกาลลดราคา เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งมียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 500% เลยทีเดียว นอกจากนั้นแพลตฟอร์มที่ถูกใช้งานหลัก คือเถาเป่า และทีมอลล์ก็มีแนวโน้มใช้งานมากขึ้นในเมืองระดับกลางและล่างเทียร์ 2-3 ในจีน

เครือข่ายอินเทอร์เน็ต 5จี รองรับ : เป็นปัจจัยที่มาจากภาครัฐ เนื่องจากจีนมีโครงการขนาดใหญ่ที่จะสร้างศูนย์เครือข่ายอินเทอร์เน็ต 5จี ออกไปมากกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ และจะขยายเพิ่มเติมอีกในอนาคต ซึ่งเป็นการรองรับการทำงานเครือข่ายที่ช่วยให้การทำธุรกรรมออนไลน์สะดวกยิ่งขึ้นไปอีก ที่สำคัญคือ มันรองรับในแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น การแพทย์ อุตสาหกรรม โทรคมนาคม และอื่นๆ

สรุปในภาพรวมแล้วจะเห็นว่า มีการรองรับการใช้งานหลายด้าน แพลตฟอร์มหลากหลาย อีกทางหนึ่งมีการปรับตัวของบรรดาธุรกิจต่างๆ ในจีนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนสนับสนุนให้คนจีนนิยมใช้งานออนไลน์และจ่ายเงินด้วยธุรกรรมออนไลน์แทนที่เงินสดได้ง่าย มีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา ไม่ต้องออกไปหาซื้อสินค้าด้วยตนเอง