ธุรกิจค้าปลีกสีเขียว !

ธุรกิจค้าปลีกสีเขียว !

การจัดการโซ่อุปทานสีเขียว เป็นการวางมาตรการ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจและจัดการโลจิสติกส์ เพื่อลดผลกระทบในเชิงลบต่อระบบนิเวศน์อันเกิดจากการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์และกิจกรรมอื่นๆ

การจัดการโซ่อุปทานสีเขียว เป็นการวางมาตรการ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจและจัดการโลจิสติกส์ เพื่อลดผลกระทบในเชิงลบต่อระบบนิเวศน์อันเกิดจากการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์และกิจกรรมอื่นๆ ตลอดโซ่อุปทาน โดยมุ่งเน้นการบรรลุ 2 เป้าหมายหลักด้านสิ่งแวดล้อม คือ 1) การกำจัดหรือลดปริมาณของเสีย เช่น พลังงาน ก๊าซพิษ สารอันตราย และขยะมูลฝอย; และ 2) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการใช้อย่างประหยัดและคุ้มค่าผ่านการนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ตัวอย่างเช่น Wallmart ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกโลกที่ตั้ง 3 เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม คือ 1) ใช้พลังงานหมุนเวียนในการขนส่งสินค้า 2) ทำของเสียในระบบให้เป็นศูนย์ และ 3) จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม หรือกรณีเครือเจริญโภคภัณฑ์ ของประเทศไทย ที่มีแคมเปญการเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกด้านความยั่งยืน โดยประกาศ 2 เป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จภายในปี 2030 ประกอบด้วย 1) การมุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Waste ที่ลดขยะและของเสียให้เป็นศูนย์ และ 2) การมุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Carbon หรือองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์

ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วจะพบว่าต้นตอที่แท้จริงของปัญหาสิ่งแวดล้อมล้วนเกิดจากความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องอุปโภคบริโภคทรัพยากรต่างๆ เพื่อการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นที่มาของการผลาญทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง รวมถึงการปล่อยขยะ ก๊าซพิษ และของเสียต่างๆ ที่เกิดจากกระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การจัดเก็บและกระจายสินค้า ไปจนถึงการใช้งานและการกำจัดสิ่งปฏิกูลหลังเสร็จสิ้นการใช้งานแล้ว ซึ่งหากพิจารณาให้ดีจะพบว่ากระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นสามารถพบได้จากโซ่อุปทานของธุรกิจค้าปลีกทั้งสิ้น นั่นคือสาเหตุสำคัญที่ธุรกิจค้าปลีกได้กลายเป็นจำเลยสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แนวทางที่ดีที่สุดของการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม คือการแก้ที่สาเหตุของปัญหา นั่นคือ การงดการใช้ทรัพยากรตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเป็นแนวทางที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยตราบเท่าที่มนุษย์ยังดำรงอยู่บนโลกใบนี้ ดังนั้นทางเลือกที่สามารถทำได้จริงจึงเป็นเพียงการยกเลิกการใช้วัสดุที่ย่อยสลายยาก และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุดโดยนำกลับมาใช้ซ้ำ จนเป็นที่มาของแนวคิด 3Rs คือ การลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการรีไซเคิล (Recycle)

การสร้างสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมสามารถจำแนกเป็นแนวทางย่อยๆ ได้แก่ Green Image คือการสร้างภาพลักษณ์ต่อสาธารณะ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการตระหนักต่อสิ่งแวดล้อม Green Procurement คือการจัดหาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Green Manufacturing คือกระบวนการผลิตสินค้าที่มุ่งลดของเสีย ได้แก่ การปล่อยก๊าซพิษและเศษวัสดุที่เหลือจากการผลิต Green Retail Store คือการออกแบบร้านสาขาที่ประหยัดพลังงานและลดการปล่อยของเสีย Green Logistics คือการจัดการโลจิสติกส์สีเขียวที่ลดผลกระทบในเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ โดยเฉพาะกิจกรรมการขนส่งที่ถูกมองว่าเป็นปฏิบัติการด้านโลจิสติกส์ที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ทั้งนี้ ธุรกิจค้าปลีกอาจมีความสัมพันธ์กับ Green Manufacturing หรือการผลิตสีเขียวน้อยที่สุด โดยเฉพาะหากไม่มีการผลิตสินค้าที่เป็น House Brand ของตนเอง ธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่จึงนำ Green Manufacturing ไปรวมอยู่กับ Green Procurement โดยจัดหาสินค้าจากซัพพลายเออร์ที่เป็นผู้ผลิตสีเขียวแทน

ในคราวหน้า เรามาคุยกันถึงการจัดการโลจิสติกส์ของธุรกิจค้าปลีก (Retail) ว่ามีความแตกต่างกับโลจิสติกส์ภาคการผลิต (Manufacturing) และภาคบริการ (Service) ที่เราคุ้นเคยมากกว่าอย่างไร