‘หัวเว่ย’ ผนึก ‘ก.แรงงาน’ ปั้นคนไอทีรับเศรษฐกิจดิจิทัล

‘หัวเว่ย’ ผนึก ‘ก.แรงงาน’ ปั้นคนไอทีรับเศรษฐกิจดิจิทัล

ตั้งเป้า 3 ปี ฝึกอบรมคนดิจิทัลไม่น้อยกว่า 3,000 คน

“ความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การขยายผลและจัดโครงการให้ความรู้แก่แรงงานในแต่ละพื้นที่ พร้อมกระตุ้นทั้งเศรษฐกิจและสังคมให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0”

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย ประเทศไทย กล่าวว่า จะร่วมกันสร้างโอกาสการเรียนรู้และจัดการฝึกอบรมที่เน้นการพัฒนาทักษะแรงงาน รวมไปถึงการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน (ReSkill) และการยกระดับทักษะเดิมให้ดียิ่งขึ้น (UpSkill) เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยพร้อมที่จะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) 

บริษัทตั้งเป้าว่า ภายในระยะเวลา 3 ปีนี้จะฝึกอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจจำนวน 300 คน ครอบคลุมหัวข้อหลักๆ อาทิ เครือข่าย 4จี และ 5จี รวมไปถึงการลงพื้นที่จริง ณ สถานีฐาน (Base Station) นอกจากนั้นตั้งเป้าฝึกอบรมให้กับบุคลากรฝึกของกรมจำนวน 120 คน และฝึกอบรมออนไลน์ให้แก่บุคคลทั่วไปจำนวน 3,000 คน

เขากล่าวว่า ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ หรือ นิวนอร์มอล เทคโนโลยีไอซีทีและดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ จากข้อมูลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของโลก ประจำปี 2563 (World Digital Competitiveness Ranking 2020) โดยสถาบันการพัฒนาการบริหารจัดการแห่งสวิส (Swiss Institute for Management Development – IMD) ประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 39 จาก 63 ประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังสามารถพัฒนาได้อีกมากเพื่อก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะความรู้และความสามารถด้านเทคนิค

"ความร่วมมือนี้เรามีเป้าหมายเพื่อเร่งผลิตบุคลากรทักษะสูงให้เพียงพอกับความต้องการ หวังด้วยว่าจะสร้างโอกาสการเรียนรู้และการฝึกฝนแบบลงพื้นที่จริงที่เน้นการพัฒนาทักษะ 

สร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน ยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้น และทำให้มั่นใจว่าไทยมีบุคลากรด้านดิจิทัลเพียงพอกับความต้องการของตลาดแรงงาน ลดอัตราการว่างงาน สร้างรายได้ให้สูงขึ้น และมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร"

หัวเว่ยเชื่อว่า การฝึกอบรมและการสร้างโอกาสให้บุคลากรในการรีสกิลและอัปสกิลให้มากขึ้น จะทำให้คนไทยมีงานที่ดีและประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ขณะเดียวกันแรงงานที่แข็งแกร่งและมีทักษะสูง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมไอซีทีจะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลได้สำเร็จ