ออมสินรุกธุรกิจขายฝากหมื่นล้านเริ่มพ.ย.นี้

ออมสินรุกธุรกิจขายฝากหมื่นล้านเริ่มพ.ย.นี้

ธนาคารออมสินเปิดตัวธุรกิจขายฝาก คาดเริ่มต้นพ.ย.นี้ เพื่อช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีสภาพคล่อง โดยสามารถนำหลักทรัพย์ที่เป็นที่ดินเปล่ามาขอสินเชื่อได้โดยไม่ต้องเช็คเครดิตบูโร กำหนดวงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 7% ระยะเวลาไถ่ถอนไม่เกิน 3 ปี

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยว่า ธนาคารจะออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อตัวใหม่ในลักษณะธุรกิจขายฝาก เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กำลังมีปัญหาด้านสภาพคล่อง ตั้งเป้าวงเงินสินเชื่อนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์การเงินดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการของธนาคารเรียบร้อยแล้ว คาดเริ่มดำเนินการได้ราวต้นเดือนพ.ย.นี้

เขากล่าวว่า ผลิตภัณฑ์สินเชื่อดังกล่าว เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์การเงินของธนาคารที่จะสนับสนุนให้ธนาคารเป็นธนาคารเพื่อสังคมได้มากยิ่งขึ้น โดยธนาคารเห็นช่องทางจากปัญหาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่องและไม่สามารถใช้หลักทรัพย์ที่มีอยู่ไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ เนื่องจาก ขัดต่อเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กำหนด ทำให้เอสเอ็มอีหันไปหาช่องทางกู้เงินจากธุรกิจขายฝาก ซึ่งเป็นธุรกิจนอกระบบที่ขูดรีดเอสเอ็มอี

เขายกตัวอย่างว่า ตามปกติแล้วคนจน เมื่อมีรายได้หรือมีเงิน เขาก็จะซื้อทอง เก็บไว้ เมื่อเกิดปัญหาโควิด-19 เขาก็สามารถเอาทองไปขายได้ แต่คนชั้นกลาง หรือเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอี เมื่อมีกำไร หรือมีเงินเหลือ ก็จะซื้อที่ดิน เมื่อเกิดโควิด-19 เงินที่เก็บไว้ก็ใช้หมด เพราะปัญหานานหลายเดือน หุ้นที่มีอยู่ก็ราคาตก เหลือแค่ที่ดิน แต่ก็ไม่สามารถทำที่ดินไปเป็นหลักทรัพย์ขอสินเชื่อกับธนาคารได้ เนื่องจาก ธปท.กำหนดว่า ต้องเช็คเครดิตบูโรและต้องผ่านการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ ขณะที่ เอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะติดเครดิตบูโร

“สมมติว่า เอสเอ็มอีมีที่ดินราคา 10 ล้าบาท จะเอาที่ไปขาย ใครจะซื้อ ไม่มีคนซื้อ อีกข้างหนึ่ง เอาที่เข้าแบงก์ แบงก์ปล่อยไม่ได้ เพราะเกณฑ์แบงก์ชาติ คือ จะปล่อยสินเชื่อได้ ต้องเช็คบูโร เอสเอ็มอี จะมีใครไม่ติดดบูโร ค้างหมด เพราะธุรกิจปิดมาหลายเดือน พังหมดแล้ว มีที่ 10 ล้านก็ปล่อยไม่ได้ คนที่ยังมีลมหายใจ ไม่ค้างบูโร ก็ต้องสอบความสามารถในการชำระหนี้ วิเคราะห์อย่างไร ก็กู้ไม่ได้ ฉะนั้น กลายเป็นมีที่ดิน 10 ล้านแต่ทำอะไรไม่ได้เลย”

เขากล่าวว่า เมื่อเอสเอ็มอีนำที่ดินไปขอสินเชื่อกับธุรกิจขายฝาก จากราคาประเมินที่ดินราชการมูลค่า 100 บาท ราคาตลาดทั่วประเทศประเมินอยู่ที่ 200 บาท เอาไปขายฝากได้แค่ 50 บาท มีค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียอีก 5-10% และ ดอกเบี้ยอีก 15-30% ถือเป็นการเอาเปรียกและท้ายที่สุดเอสเอ็มอีจะโดนยึดที่ดิน

“มีเอสเอ็มอีรายหนึ่ง มีที่ดินราคาประเมินอยู่ที่ 100 ล้านบาท แต่ว่า ต้องการใช้เงินแค่ 10 ล้านบาท แต่สัญญาเขียน 15 ล้านบาท โดย 5 ล้านบาท เป็นค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยอีก 30%”

เขากล่าวว่า ธนาคารจะทำธุรกิจนี้ ในช่วงเวลาหนึ่ง หรือ ช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 เท่านั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยได้หารือกับแบงก์ชาติแล้วว่า เราจะไม่มีการวิเคราะห์รายได้หรือตรวจเครดิตบูโร ถ้าไม่ทำแบบนี้ จะไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้

ทั้งนี้ เงื่อนไขสินเชื่อนี้ จะต้องนำไปเป็นสภาพคล่องให้ธุรกิจเท่านั้น ไม่สามารถนำไปเพื่อการบริโภคได้ เบื้องต้นจะกำหนดระยะเวลารับคืนหลักทรัพย์หรือไถ่ถอนภายใน 3 ปี ให้สินเชื่อสูงสุด 70% ของราคาประเมิน ส่วนอัตราดอกเบี้ยอาจจะอยู่ที่ไม่เกิน 7%

“เราเชื่อว่า สินเชื่อนี้ จะช่วยคนได้มากมายมหาศาล แต่ว่า ขอสินเชื่อไปเพื่อบริโภคไม่ได้ ไม่เช่นนั้น จะเป็นแหล่งขายที่ดิน จะต้องเอาไปเพื่อเป็นสภาพคล่องแก่ธุรกิจ แต่อาจจะจำกัดไซค์ไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท”